เครดิตรูปภาพ: ranmaru / Shutterstock.com

ซูชิที่ไม่ธรรมดา 'มะซุซูชิ'

ซูชิห่อใบไผ่ อาหารเลิศรสจากโทะยะมะ

เครดิตรูปภาพ: ranmaru / Shutterstock.com
Suwannee Payne   - ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

ซูชิ อาหารจานซิกเนเจอร์ของญี่ปุ่น ไม่ได้มีแต่เวอชั่นที่เรียบๆ ง่ายๆ อย่างที่เราเห็นกันทั่วไป แต่ยังมีซูชิที่ไม่ธรรมดา เป็นซูชิเฉพาะถิ่นที่แปลก แตกต่าง และน่าสนใจอีกมากมาย ที่ฉันได้นำเสนอในบล็อกก่อนหน้านี้ คือ คะคิโนะฮะ-ซูชิ (Kakinoha-zushi) ซูชิที่ห่อด้วยใบพลับ ของดีจากนารา

ในจังหวัดโทะยะมะ (Toyama) จังหวัดที่อยู่ติดกับทะเลญี่ปุ่นตรงช่วงกลางของเกาะฮอนชู เป็นสถานที่ที่ผู้มาเยือนจะได้พบกับซูชิแปลกแวกแนวอีกแบบหนึ่งคือ 'มะซุซูชิ' (Masuzushi) ซูชิห่อด้วยใบไผ่ ใบไผ่จัดว่าเป็นใบไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีสารต้านเบคทีเรีย ในสมัยโบราณคนญี่ปุ่นใช้ใบไผ่ห่ออาหารและเก็บไว้ทานในระหว่างเดินทาง หรือในฤดูหนาว ซูชิที่ห่อด้วยใบไผ่ของจังหวัดโทะยะมะนี้ ยังมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างอีกด้วย คือเป็นรูปกลมแบน

มะซุซูชิทำจากข้าวซูชิ ซึ่งเป็นข้าวสวยผสมกับน้ำส้มสายชูสำหรับทำซูชิโดยเฉพาะ กับปลาแซลมอนมะสุ (masu) ซึ่งเป็นปลาแซลมอนที่อาศัยอยู่ในน่านน้ำแปซิกฟิกตอนเหนือ วิธีทำเริ่มจากนำปลามะสุมาหั่นบางๆ ทาเกลือแล้วทิ้งไว้ประมาณ 30-60 นาที จากนั้นนำมาจุ่มในน้ำส้มสายชูผสมน้ำตาล วางเรียงในถาดปิดฝาและตั้งทิ้งไว้อีกหนึ่งชั่วโมง ในระหว่างรอก็ต้มใบไผ่กับน้ำผสมน้ำส้มสายชู เช็ดใบไผ่ให้แห้ง นำใบวางเรียงบนกล่องไม้รูปกลม ใส่ข้าวซูชิให้แน่น นำปลาซาลมอนมาวางเรียงบนข้าวให้สวย ปิดใบไผ่ให้มิดชิด ปิดฝาไม้ลงบนกล่อง แล้วปิดทับฝากล่องด้วยก้อนหินหนักๆ เพื่อช่วยเร่งเวลาการถนอมอาหาร อีกทั้งยังเป็นการทำให้ซูชิแข็งตัว

คุณสามารถหาซื้อมะซุซูชิได้ตามร้านขายของฝากและสถานีรถไฟทั่วไปในจังหวัดโทะยะมะ ถึงเวลาทานก็ตัดเป็นชิ้นคล้ายพิซซ่า สะดวกสบายมาก เหมาะสำหรับไปปิคนิค หรือเป็นของฝากที่คนรับต้องเป็นปลื้ม

อีกซูชิหนึ่งที่แตกต่างเป็นเอกลักษณ์ รอให้ผู้คนเดินทางไปค้นพบ และลิ้มรสอันโอชะของท้องถิ่น

Suwannee Payne

Suwannee Payne @suwannee.payne

I am a Thai woman who has spent half of her life in beautiful Ottawa, capital city of Canada. I enjoy crafting, gardening, photography, bicycle touring and my new found love blogging. You can visit my blog (In Thai) at here It is a beautiful site. The name Ban Suanporpeang means 'Humble little...