ในปี คศ. 1281 ช่วงเวลาเดียวกันกับที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชกำลังปกครองสุโขทัย ณ ชายฝั่งทะเลอ่าวฮากาตะ นักรบซามูไรจำนวนหลายหมื่นคนมารวมกันอยู่ที่นี่ เพื่อช่วยกันป้องกันภัยที่กำลังเดินทางเข้ามาหาพวกเขา-กองทัพมองโกล นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพของจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่-กุบไลข่าน แผ่อำนาจขยายอาณาเขตเข้ามายังแผ่นดินแห่งนี้
ก่อนหน้านั้นเพียง 7 ปี ทะเลกว้าง 180 กิโลเมตรไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้รุกรานชาวมองโกลจำนวน 40,000 คน ที่ข้ามน้ำมาด้วยเรือ 900 ลำ ในครั้งนั้นซามูไรรวบรวมพลได้เพียง 6,000 คน นั่นหมายความว่าซามูไร 1 คนต้องรับมือกับมองโกลอย่างน้อย 6 คน มีผู้วิจารณ์ว่า ซามูไรนั้นเชี่ยวชาญการต่อสู้แบบใช้ความสามารถเฉพาะตัว แต่กองทัพจากจีนรบตามพิชัยสงคราม มีกลยุทธในการรุกรับ แปรกระบวน โจมตีเป็นหมวดหมู่ นั่นยังไม่รวมถึงอาวุธทำลายล้างที่ซามูไรยังไม่เคยเห็นมาก่อน ระเบิด ความได้เปรียบและเสียเปรียบพอจะมองเห็นได้
ครั้งนั้น ซามูไรถูกกองทัพมองโกลตีถอยร่นจากชายฝั่งลึกเข้าไปในแผ่นดิน 15 กิโลเมตร โชคดีที่มีพายุฝนฟ้าคะนองพัดมาจากทะเล ล่มเรือมองโกลที่ลอยลำอยู่ถึง 300 ลำ ผู้รุกรานจำต้องเลิกทัพกลับไป แบบไม่เต็มใจ
ซามูไรคะเนว่าผู้รุกรานจะกลับมาอีกในไม่ช้า พวกเขาจะเตรียมการให้ดี ในครั้งนี้โชกุน คามาคูระ ลงมาดูแลด้วยตัวเอง เริ่มจากเกณฑ์แรงงานมาสร้างกำแพงหินขนาดความสูง 2 เมตร กว้าง 2 เมตร ยาว 20 กิโลเมตร ขนานไปกับชายฝั่งทะเล เพื่อเป็นแนวรั้วป้องกันข้าศึก กำแพงเมืองจีนเคยปกป้องชาวฮั่นให้พ้นภัยจากมองโกลได้อย่างไร กำแพงนี้ควรจะให้ผลอย่างนั้น ต่อมาสั่งให้รวบรวมอาสาสมัครนักรบ เมื่อได้มาแล้วก็ฝึกฝนให้เป็นซามูไร ขั้นสุดท้ายพวกเขาจำเป็นต้องมียุทธวิธีที่เหมาะสม ในที่สุดก็เลือกใช้กลยุทธ สงครามกองโจร ทางเรือ
แล้ววันที่รอคอยก็มาถึง
ครั้งนี้กองทัพมองโกลจำนวน 140,000 คน มาพร้อมกับเรือ 5,000 ลำ จากศึกครั้งแรกพวกเขาประจักษ์แล้วว่า อานุภาพของซามูไรไม่อาจต้านทานแสนยานุภาพกองทัพของพวกเขาได้
ซามูไรมีจำนวน 40,000 คน รออยู่ด้วยความหวังว่า ครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม
ทัพหน้าของผู้รุกรานมาถึงก่อน กองเรือแล่นตรงเข้ามาในอ่าว ผู้ตั้งรับส่งเรือลำเล็กและแม้กระทั่งแพตามที่มี ดาหน้าเข้าหา ซามูไรบางคนถือคบเพลิง เมื่อประชิดเรือใหญ่แล้วพากันปีนป่าย ฉุด ดึงเพื่อนพ้องขึ้นไป บนดาดฟ้าเรือมีพื้นที่จำกัดและชุลมุน เข้าทางของซามูไร พวกเขาชักดาบออกฟาดฟัน เผาเรือ แล้วรีบถอยกลับไป เรือไม้เริ่มลุกเป็นไฟ กลยุทธนี้เปรียบได้กับสิบทำลายร้อย มีบ้างที่เรือใหญ่บางลำเล็ดลอดผ่านเรือโจรไปได้ แต่ทหารที่ขึ้นฝั่งได้ก็ไม่อาจฝ่าลูกธนูและกำแพงหินเข้าไป คราวนี้กองทัพเรือมองโกลต้องถอยร่นให้พ้นระยะของเรือเล็ก ไปขึ้นฝั่ง ณ เกาะที่อยู่กลางทะเลหน้าอ่าวฮากาตะ
วันที่ 30 กรกฎาคมของปีนั้น กองทัพใหญ่ของมองโกลมาถึงแล้ว อีกไม่นานจะลุยขึ้นฝั่งเพื่อบดทำลายด้วยจำนวนทหารและอาวุธที่เหนือกว่า เวลาบ่ายวันนั้น ท้องฟ้าของอ่าวฮากาตะฉับพลันแปรเปลี่ยนเป็นสีดำ พายุขนาดรุนแรงที่สุดปัจจุบันเรียกว่าใต้ฝุ่น ก่อตัวขึ้น ลมหมุนพัดกวาด ลากบรรดาเรือมองโกลสมอหลุดจากท้องทะเลเข้ามาล่ม จมลงในอ่าว ทหารมองโกลเสียชีวิต 100,000 คน กองทัพส่วนที่เหลือถูกเรียกให้ถอยกลับไป
นับแต่นั้นมา ไม่ปรากฏว่ามีกองทัพจากจีนยกเข้ามารุกรานญี่ปุ่นอีกเลย
ทั้งพายุฝนฟ้าคะนองในศึกครั้งแรก พายุใต้ฝุ่นในศึกครั้งหลัง ชาวญี่ปุ่นต่างเชื่อกันว่าเป็นลมศักสิทธิ์ ที่เหล่าเทพเจ้าส่งมาทำลายล้างศัตรู พากันขนานนามว่า กามิกาเซ (Kamikaze)
บันทึกเรื่องราวในอดีตทำให้ชนรุ่นหลังเทิดทูน ภูมิใจ ในความสามารถยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษ สร้างความเคารพ ศรัทธา ในเทพเจ้า จะดีหรือไม่หากเรามีโอกาสได้เยี่ยมชมหลักฐานของประวัติศาสตร์ ให้เห็นด้วยตาของเราเอง โปรแกรมตามรอยเทพเจ้า จะมีอ่าวฮากาตะเป็นจุดเริ่มต้น จากนั้นขยับออกมาเพียงเล็กน้อย ไปดูกำแพงหิน ปราสาทฟูกุโอกะ และจบด้วยพิพิธภัณฑ์สงคราม ตลอดทั้งโปรแกรมจะอยู่ภายในเมืองฟูกุโอกะ ภาคใต้ของญี่ปุ่น เมืองที่เพียบพร้อมไปด้วยสนามบินนานาชาติ ท่าเรือ รถไฟ รถไฟใต้ดิน รถประจำทาง แหล่งช้อปปิ้ง อาหารการกิน และอื่นๆ
อ่าวฮากาตะ ตั้งอยู่ ณ ชายทะเลเมืองฟูกุโอกะ การชมทัศนียภาพให้เห็นทั่วบริเวณกว้างไพศาลแบบนี้ หากได้ชมจากที่สูงจะดีไม่น้อย โชคดีที่มีหอคอยท่าเรือ (Hakata Port Tower) หอคอยสีแดงที่มีความสูง 100 เมตร ชั้นที่ให้ชมวิวอยู่ที่ระดับความสูง 70 เมตร บนนี้จะเห็นภาพอ่าวฮากาตะอย่างสวยงาม น่าประทับใจ หอคอยทำหน้าที่ดุจประภาคาร อำนวยความปลอดภัย ให้เรือที่สัญจรในอ่าวเป็นเวลานานกว่า 50 ปีมาแล้ว เปิดให้ขึ้นชมได้ตั้งแต่เวลา 10:00 ถึง 22:00 น. ทุกวัน โดยไม่เก็บค่าบัตรผ่านประตู หอคอยตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าชายฝั่ง (Bayside Place Hakata) ประกอบด้วย ตลาดจำหน่ายอาหารทะเลและพืชผักหลากหลาย ร้านจำหน่ายของที่ระลึก อะควาเรียม ภัตตาคาร ในรูปแบบสวนสนุก Wonderland ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์แห่งนี้เปิดตั้งแต่เวลา 9:30 ถึง 22:00 น. ทุกวัน นักท่องเที่ยวจะอยู่ที่นี่อย่างมีความสุขได้ตลอดวัน การเดินทางสามารถไปถึงได้โดยรถประจำทางสาย 46, 99 จากต้นทางสถานีรถไฟ Hakata ปลายทางคือป้ายรถประจำทาง Hakatafuto (220 เยน, 20-30 นาที) หรือขึ้นรถประจำทางสาย 49, 90 จากต้นทางย่าน Tenjin ปลายทางเดียวกัน (180 เยน, 10-15 นาที) หากเดินทางมาโดยรถไฟใต้ดิน ต้องลงที่สถานี Gofukumachi จากนั้นเดินไปแบบสบายๆ ใช้เวลาไม่ถึง 20 นาที
กำแพงหิน หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า Genko Borui ได้ผุพังและถูกกลบฝังไปตามกาล นอกจากนี้ยังมีการนำหินไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ปัจจุบันได้บูรณะแล้วสามารถเที่ยวชมได้ถึง 9 แห่งดังนี้ สามจุดแรกอยู่ใกล้สถานีรถไฟ Meinohama จุดที่สี่อยู่ที่ Imazu ใกล้สถานีรถไฟ Shimoyamato จุดที่ห้าและหกอยู่ที่ Nishijin ภายในมหาวิทยาลัย Seinan University ใช้เวลาเดิน 5 นาทีจากสถานีรถไฟใต้ดิน Nishijin หรือเดิน 5 นาทีจากป้ายรถประจำทาง Shuyukan-mae จุดที่เจ็ดและแปดอยู่ที่วัด Hakozaki Shrine โดยเดินจากสถานีรถไฟใต้ดิน Hakozaki Miyamae ไปอีก 5 นาที จุดที่เก้าอยู่ที่ Momochi ใกล้กับ Fukuoka Dome
ปราสาทฟูกุโอกะ หรืออีกชื่อหนึ่งปราสาท Maizuru หินที่นำมาสร้างถูกขุดมาจากกำแพง Genko Borui มาเที่ยวที่นี่เท่ากับเที่ยวชมกำแพงประวัติศาสตร์ไปด้วย ปราสาทนี้สวยงาม ร่มรื่น รายล้อมไปด้วยพรรณไม้นานา ตั้งอยู่บนยอดเนินฟูกุซากิ ณ ใจกลางเมือง พื้นที่รอบปราสาทถูกจัดเป็นสวนสาธารณะเรียกว่า Maizuru Park สวนแห่งนี้เดินไปถึงได้ในเวลาเพียง 10-15 นาที่ จากสถานีรถไฟใต้ดิน Ohori Koen
สุดท้ายคือ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เกงโกะ Genko (Mongol Invasion) Historical Museum ตั้งอยู่ที่หน้าศาลาว่าการเมืองฟูกุโอกะ อุทิศเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงสงครามดังกล่าว ภายในจัดแสดงอาวุธ ชุดเกราะ ทั้งของนักรบซามูไรและกองทัพมองโกล ยังมีภาพวาดสงคราม หากเดินทางไปโดยรถไฟจะต้องลงที่สถานี Yoshizuka แล้วเดินชมสองข้างทางไปอีกเพียง 5 นาที หากไปโดยรถไฟใต้ดินจะต้องลงที่สถานี Maidashi Kyudai Byoin-mae แล้วเดินไปอีก 2 นาที ค่าบัตรผ่านประตูคนละ 300 เยน สำหรับผู้ใหญ่ และ 200 เยน สำหรับเด็ก เวลาทำการ เปิดตั้งแต่ 10:00 ถึง 16:00 น.
ทั้งหมดนี้คือรอยของเทพเจ้าและบรรพบุรุษ ที่ปกปักรักษาชาวณี่ปุ่นในอดีตกาล ที่ยังหลงเหลือให้เรามองเห็นได้ในปัจจุบัน
หมายเหตุ ข้อมูลสงคราม http://archive.archaeology.org/0301/etc/wrath.html , http://en.wikipedia.org/wiki/Fukuoka , http://en.wikipedia.org/wiki/Genko_Borui , http://en.wikipedia.org/wiki/Mongol_invasions_of_Japan