นิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของญี่ปุ่น "ชูเซกัน" เกิดขึ้นตามนโยบายสร้างความมั่งคั่งด้วยอุตสาหกรรมของท่านนาริอะกิระ เป็นที่รวมของโรงงานต่างๆ อาคารหลังใหญ่สีขาวคือที่พักของบรรดาที่ปรึกษาชาวอังกฤษ (Photo: Wikipedia)

นาริอะกิระ - 2 ถูกยกให้เป็นเทพเจ้า

ตามรอยเทพไดเมียว ณ ช่องแคบกันมอน

นิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของญี่ปุ่น "ชูเซกัน" เกิดขึ้นตามนโยบายสร้างความมั่งคั่งด้วยอุตสาหกรรมของท่านนาริอะกิระ เป็นที่รวมของโรงงานต่างๆ อาคารหลังใหญ่สีขาวคือที่พักของบรรดาที่ปรึกษาชาวอังกฤษ (Photo: Wikipedia)
Anonymous   - ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

หลังจากขึ้นเป็นไดเมียวแคว้นซัตสุมะแล้ว มาดูกันว่านักปกครองที่มารดาถ่ายทอดความรู้ "ปรัชญาตะวันออก" ให้ จะแก้ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร ราวกับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเยล หรือฮาร์วาร์ด หรือโรงเรียนนายเรือแอนนาโปลิส อย่างไร

ญี่ปุ่นในยุคนั้นแบ่งออกเป็นหลายแคว้น แต่ละแคว้นมีไดเมียวเป็นผู้ปกครอง ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดคือโชกุน มีสำนักที่โชกุนเป็นประธานโดยมีสมาชิกคือคณะไดเมียวบริหาร ผู้บริหารเหล่านี้มาจากตระกูลที่เคยเป็นพันธมิตรร่วมรบกับโชกุนโตกุกาวะคนแรก ในสงครามแย่งชิงอำนาจที่ทุ่งเซกิกาฮาระเมื่อ 200 กว่าปีก่อนนาริอะกิระ สงครามครั้งนั้นบรรพบุรุษตระกูลชิมัสสึ ของท่านนาริอะกิระอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโชกุน ท่านจึงเป็นไดเมียวนอกสำนักรัฐบาล [สงครามเซกิกาฮาระ คลิกที่นี่]

ในเวลานั้นสำนักโชกุนอ่อนแอกว่ากลุ่มไดเมียวนอกสำนัก การเมืองเริ่มจะไม่มั่นคงเนื่องจากปัจจัยภายนอกคือ ชาติตะวันตกส่งกองเรือติดอาวุธเข้ามากดดันให้โชกุนเปิดประเทศ เหล่าผู้ปกครองรู้กันว่าผลจากสงครามฝิ่นทำให้รัฐบาลและประชาชนในประเทศจีนได้รับผลอย่างไร ท่านนาริอะกิระจึงได้เริ่มต้นแก้ไขสถานะการณ์ดังนี้

อันดับแรกปรับปรุงการศึกษา โดยเปิดโรงเรียนที่สอนหลักสูตรนานาชาติเป็นแห่งแรก สอนด้วยตำราและครูชาวดัช หลักการของท่านคือให้นักเรียนรู้จักและเข้าใจเทคโนโลยีตะวันตก แต่พื้นฐานความคิดให้ยึดแบบตะวันออก ที่สำคัญจะสอนให้ผู้เรียนเป็นนายของตัวเอง

ต่อมาพัฒนาเศรษฐกิจ ท่านมีแนวคิดที่จะให้มีโซนอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ จึงจัดสรรพื้นที่ริมอ่าวสนับสนุนให้โรงงานต่างๆ ไปรวมกันอยู่ ณ ที่นั้น สิ่งใดที่ชาวญี่ปุ่นทำไม่ได้ก็จ้างที่ปรึกษาชาวต่างชาติเข้ามาทำ นี่คือนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกเรียกว่า "ชูเซกัน" ทุกวันนี้ถูกรักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน

รายได้จากอุตสาหกรรมท่านนำมาเป็นทุนสำหรับป้องกันดินแดน ท่านสอนให้เข้าใจยุทธศาสตร์ของตะวันตกโดย ยกสงครามฝิ่นขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ชี้ให้เห็นว่าจุดแข็งคือเรือเหล็กของฝรั่งมีปืนใหญ่อานุภาพสูง แต่จุดอ่อนก็มีอยู่ตรงที่ฝรั่งไม่อาจอยู่บนเรือได้ตลอดไป เมื่อขึ้นมาบนฝั่งแล้วก็จัดการได้ อาวุธอันใดที่ยังไม่มีก็ให้สั่งซื้อมาใช้ จากนั้นระดมช่างชาวญี่ปุ่นมาช่วยกันต่อเรือ โดยอาศัยเพียงตำราและแบบจำลองที่ตั้งโชว์อยู่ในบ้านของท่าน เรือทันสมัยลำนี้ชื่อ โชเฮมารู ใช้ในการฝึกทหารเรือ ศิษย์ของท่านต่อมาเติบโตเป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือญี่ปุ่น นำกองเรือเข้าประจัญบานในสงครามจีน-ญี่ปุ่น และสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ได้รับชัยชนะทั้ง 2 ครั้ง สื่อมวลชนชาวยุโรปให้ฉายาว่านายพลเนลสันแห่งตะวันออก

จากนั้นสร้างแนวป้องกันเรือรบตามชายฝั่ง โดยสั่งซื้อและติดตั้งปืนใหญ่ตามจุดยุทธศาสตร์ พร้อมกับจัดตั้งกองทหารประจำป้อมปืนโดยมีครูฝึกเป็นฝรั่ง ต่อมาภายหลังทหารและป้อมปืนเหล่านี้ได้ใช้ต่อสู้กับกองเรือนานาชาติ ที่พากันมาระดมยิงซัตสุมะ ครั้งนั้นป้อมปืนใหญ่กระบอกหนึ่งยิงนัดแรกก็ถูกเรือรบของอังกฤษ ผู้บัญชาการเรือเสียชีวิตทันที

ด้านการเมือง เนื่องด้วยท่านไม่มีอำนาจในรัฐบาลโชกุนโดยตรง แต่มองเห็นวิธีที่จะทำได้โดยอ้อม เวลานั้นมีเด็กหญิงออกแนวทอมบอยในตระกูลของท่านคนหนึ่ง สาวน้อยมีความฉลาด มุ่งมั่น และใฝ่รู้ ท่านจึงขอมาเป็นลูกสาวบุญธรรม จากนั้นให้การศึกษา จ้างครูมาอบรมให้เป็นกุลสตรี เจตนาจะให้เหมือนมารดาของท่าน ท่านวางแผนอย่างล้ำเลิศให้สาวน้อยแต่งงานกับโชกุนได้สำเร็จ ก่อนออกเรือนท่านได้บอกเจ้าหญิงในอนาคตให้ทราบถึงแผนการของท่าน รวมทั้งสั่งให้เจ้าหญิงต้องทำหน้าที่เพื่อท่านอย่างไรบ้าง หลังจากแต่งงานกับโชกุนแล้วได้เปลี่ยนชื่อเป็นเจ้าหญิงอัตสุ หญิงแกร่งบวกเก่งผู้นี้มีบทบาทอยู่เบื้องหลังโชกุนถึง 3 รุ่น เป็นผู้รักษาพระราชวังอิมพีเรียล ปกป้องโชกุนคนสุดท้าย และคุ้มครองสมาชิกในตระกูลโตกุกาวะของโชกุนเอาไว้ให้ปลอดภัยจากสงคราม "ศึกล้างโชกุน" ในเวลาต่อมา

ท่านนาริอะกิระเป็นไดเมียวอยู่ได้เพียง 7 ปี หลังจากนั้นท่านก็ป่วย แต่ก่อนที่จะจากไปท่านได้แต่งตั้ง "ชิมัสสึ ทาดาโยชิ" บุตรของน้องชายต่างมารดาให้เป็นไดเมียวคนต่อไป  ด้วยความที่ท่านมีคุณูปการต่อประเทศญี่ปุ่น ประชาชนจึงพร้อมใจกันยกให้ท่านเป็นเทพเจ้าโดยเรียกว่า เทรุคูนิ ไดเมียวจิน (Terukuni Daimyōjin)  - จบตอนที่ 2

ตอนต่อไปจะเล่าถึงเจ้าหญิงอัตสุ รวมทั้งศิษย์ของท่านนาริอะกิระผู้เป็นนักการเมืองฉายาบิสมาร์คของญี่ปุ่น และศิษย์ผู้เป็นนักรบฉายาซามูไรคนสุดท้าย ทั้ง 3 คนเคยเป็นมิตรสหายช่วยเหลือกัน ต่อมาแยกย้ายกันออกไปสร้างผลงานประวัติศาสตร์ของตัวเอง สุดท้ายกลับต้องมาเผชิญหน้ากันในฐานะศัตรู

ตามรอยนาริอะกิระจากซัตสึมะไปยังเอโดะ – มีอะไรที่ช่องแคบกันมอน

ท่านนาริอะกิระจะต้องเดินทางไปมาระหว่างซัตสุมะและเมืองหลวงคือเอโดะหลายครั้ง (ปัจจุบันคือ คาโกชิมา-โตเกียว) ขบวนของท่านจะต้องผ่านช่องแคบกันมอน ซึ่งเป็นน่านน้ำระหว่างเกาะคิวชูของแคว้นซัตสึมะกับเกาะฮอนชูของเมืองหลวง สมัยนั้นต้องข้ามด้วยเรือแต่ปัจจุบันการข้ามช่องแคบทำได้หลายทางคือ ทางถนนมีทั้งสะพานแขวนลอยฟ้าและอุโมงใต้ดิน ทางรถไฟ และเรือเฟอรี่

ช่องแคบกันมอน มีทัศนียภาพสวยงามประกอบด้วยวิวของสะพานแขวนลอยฟ้า ทะเล และชายฝั่งที่สวยงาม ที่ช่องแคบด้านฝั่งเกาะคิวชูมีศาลเจ้าตั้งอยู่เรียกว่า (Mekari Shrine) ที่น่าไปเที่ยวชม การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะไปได้โดยรถบัส “Nishitetsu Bus” จากสถานีรถไฟ JR Mojiko Station (หมายเหตุ ควรตรวจสอบเวลาเดินรถก่อนไปด้วยมีจำนวนรถโดยสารจำกัด)

ศาลเจ้าเมการิตั้งอยู่ในเขตฟุกุโอกะ เป็นศาลเก่าแก่สร้างในสมัยจักรพรรดิองค์ที่ 14 ของญี่ปุ่น ผ่านการบูรณะครั้งหลังสุดในปี คศ. 1767 ภายในบริเวณมีอาคารรูปทรงโบราณที่สวยงาม มีประตูโทริอิตั้งอยู่เคียงข้างสะพานแขวนลอยฟ้า ณ ที่นี้จะสามารถชมวิวช่องแคบได้อย่างใกล้ชิด

หมายเหตุ

  1. เรื่องนาริอะกิระตอนที่ 1 ก้าวข้ามอุปสรรค, เที่ยวภูเขาไฟซากุระจิม่า สัญญลักษณ์ของแคว้นซัตสุมะ [คลิกที่นี่]
  2. เที่ยวบ้านพักของตระกูลชิมัสสึ ณ คาโกชิมา [คลิกที่นี่]
Anonymous

Anonymous @kraikorn.charmikorn__archived