วัดโทโชไดจิ (เครดิตรูปภาพ: Tomoko Kamishima)

วัดโทโชไดจิที่นาราในฤดูใบไม้ร่วง

พุทธศาสนาจากแดนโพ้นทะเลตอน 1 - นักบวชกันจิน

วัดโทโชไดจิ (เครดิตรูปภาพ: Tomoko Kamishima)
Onlada Chollavorn   - ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

วัดโทโชไดจิในนาราคือวัดผู้นำในนิกายริสุของศาสนาพุทธที่ญี่ปุ่น นิกายริสุศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนกับศีลของศาสนาพุทธเป็นหลัก ในปีค.ศ. 759 ปรมาจารย์นักบวชชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่นามว่ากันจินได้สร้างวัดนี้ให้เป็นสถาบันสงฆ์เพื่อการเรียนรู้คำสอนและศีลของศาสนาพุทธ ช่วงฤดูใบไม้ร่วงของที่นี่ ดอกไม้สีชมพูของพุ่มดอกโคลเวอร์ญี่ปุ่นจะพลิ้วไหวในสายลมอยู่บนพื้นของวัด

วัดโทโชไดจิ

การออกแบบบนภาคพื้นดินของวัดโทโชไดจินั้นเรียบง่ายมาก เมื่อคุณเข้ามาในวัดผ่านทางประตูนันไดมอนแล้ว จะพบกับสองอาคารหลักคือศาลาคอนโดะและโคโดะตั้งตระหง่านอยู่ตรงศูนย์กลาง และมีอาคารย่อยอื่น ๆ ตั้งเรียงรายอยู่ทั้งสองฝั่ง อาคารตรงกลางนั้นเป็นที่ ๆ พระสงฆ์ใช้สวดมนต์ เรียน และฝึกปฏิบัติธรรม อาคารหลังแรก ศาลาคอนโดะ มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ค้ำไว้ด้วยเสาไม้ที่สวยงามทั้งแปดเสา ทำให้เรานึกถึงวิหารพาร์เธนอนของกรีกและส่วนนูน (ด้านบนของแต่ละเสาจะเรียวลง) นักวิชาการบางคนคิดว่าการออกแบบแนวนั้นน่าจะถูกนำเข้ามาที่ญี่ปุ่นผ่านเส้นทางสายไหม ส่วนศาลาโคโดะเป็นที่สำหรับการเรียนการสอน มีที่นั่งทำจากไม้รูปร่างเหมือนเวทีอยู่ทั้งสองข้างของประติมากรรมใหญ่ ข้างหนึ่งให้สำหรับผู้ฝึกสอน ส่วนอีกข้างหนึ่งให้สำหรับตัวแทนพระประจำวัน พระรูปอื่นที่เหลือปูเสื่อตั้งบนพื้น ฟังการสอนและช่วงเสวนาถามตอบ

ส่วนอาคารที่เหลือ ไคดันอินนั้นตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของวัด ซึ่งถูกทำลายลงไปโดยแผ่นดินไหวเมื่อปีค.ศ. 1596 และตึกที่บูรณะใหม่ก็ถูกเผาในปี 1848 ซึ่งก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นอีกเลยและตอนนี้ก็เหลือแค่ที่ฐานหินเท่านั้น อีกสองตึกที่เหลือคือไรโดะและฮิงาชิมูโระตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก เป็นตึกเรียวยาวเชื่อมต่อกันที่เคยใช้เป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์

ผู้ก่อตั้งวัดโทโชไดจิ กันจิน มรณะภาพที่วัดในปี 763 หลุมฝังศพของท่านอยู่ที่มุมฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของบริเวณวัด ถูกรายล้อมด้วยสวนสวยงามที่มีตะไคร่น้ำขึ้นปกคลุม หินหน้าหลุมฝังศพตั้งอยู่บนเนินดินและโอบรอบโดยกำแพงรูปหกเหลี่ยม

นักบวชกันจิน

กันจินเกิดเมื่อปี 688 ในหยางโจว สมัยราชวงศ์ถังตอนต้น (618-690) ท่านได้ออกจากบ้านเพื่อมาเป็นนักบวชตอนอายุ 14 ท่านเรียนหนังสือที่ฉางอันและตามเมืองใหญ่ ๆ อยู่อีกหลายปีแล้วจึงเริ่มสอนคนในเมืองบ้านเกิด ชื่อเสียงของท่านโด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีผู้ใดสามารถเป็นยอดปรมาจารย์ของพุทธนิกายริสุได้ทัดเทียมท่านอีกแล้ว

เมื่อได้ยินชื่อเสียงอันสูงส่งของท่าน นักบวชชาวญี่ปุ่นสองท่านที่ถูกส่งไปยังจีนโดยรัฐบาลญี่ปุ่นก็ไปพบท่านกันจินในปี 742 พวกท่านขอให้กันจินส่งใครสักคนไปสอนศาสนาพุทธในญี่ปุ่น กันจินเอ่ยถามว่ามีลูกศิษย์คนใดของท่านจะไปเป็นปรมาจารย์ริสุที่ญี่ปุ่นหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดยกมือ กันจินจึงตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลไปญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ ด้วยตัวท่านเอง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางยาวนานที่ไม่ธรรมดา ท่านออกเดินทางห้าครั้ง แต่ละครั้งต้องประสบความล้มเหลวเพราะพายุบ้างหรือการแทรกแซงของทางการจีนบ้าง แต่ละครั้งท่านจะเตรียมพระสูตร พระพุทธรูป เสื้อผ้า และอุปกรณ์สำหรับพิธีกรรม ยา หนังสือ และทรัพย์สมบัติอื่น ๆ แต่ทั้งหมดก็สูญหายไปในทุกครั้ง ในช่วงการพยายามห้าครั้งนี้ ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 743-753 ผู้ติดตามบางรายก็ได้ตายลงและท่านกันจินเองก็สูญเสียการมองเห็น แต่ท่านไม่เคยท้อถอยและพยายามต่อไป เรื่องราวเกี่ยวกับความยากลำบากของท่านถูกเล่าไว้อย่างแม่นยำละเอียดในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง กระเบื้องหลังคาแห่งเทมเปียว โดยยะสุชิ อิโนะอุเอะ (井上靖『天平の甍』)

ในที่สุดกันจินก็ไปถึงญี่ปุ่นได้สำเร็จในปี 753 ตอนนั้นท่านอายุ 66 ท่านได้รับการต้อนรับอันอบอุ่นและกระตือรือร้นที่ญี่ปุ่น ตอนแรกท่านสอนอยูที่วัดโทไดจิ (วัดองค์จักรพรรดิอันดับสูงสุดในญี่ปุ่น) และแนะให้มีผู้เข้าร่วม 440 คน รวมไปถึงองค์จักรพรรดิ จักรพรรดินี และนักบวชอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นท่านก็เริ่มวางแผนการฝึกฝนในทางปฏิบัติให้แก่พระสงฆ์ที่ต้องการจะเป็นผู้นำชาติของญี่ปุ่นในอนาคต ท่านรู้สึกว่าต่อให้รู้คำสอนและศีลของพุทธนับร้อย ๆ ข้อก็คงไม่มีความหมายใดถ้าไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ในชีวิตจริง ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่การฝึกสอนทางปฏิบัติแก่พระสงฆ์ กันจินจึงเปิดสถานสอนฝึกปฏิบัติธรรมโทโชไดจิขึ้น และพำนักอยู่และสอนอยู่ที่นั่นไปตลอดชีวิตของท่าน

รูปสลักจากไม้ของท่านกันจินถูกแกะขึ้นหนึ่งปีหลังจากที่ท่านมรณภาพ ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเพียงปีละไม่กี่วันเท่านั้น แม้ว่าเราจะสามารถชมแบบจำลองได้ที่ศาลาไคซันโด แต่ก็ไม่ได้มีความขลังเทียบเท่ากับของแท้ซึ่งสะท้อนภาพตัวจริงของท่านออกมาได้ รูปสลักของกันจินเป็นรูปตอนที่ท่านหลับตาทำสมาธิ ลักษณะของท่านสุขุมและเต็มไปด้วยความครุ่นคิด และความทรหดของท่านก็เผยออกมาให้เห็นตั้งศีรษะจรดปลายเท้า จิตวิญญาณที่ไม่เคยย่อท้อของท่านได้ย้ำเตือนให้เราคิดถึงบางสิ่งในชีวิตที่เราหลงลืมไปแล้ว

เกี่ยวกับบทความชุด: พุทธศาสนาจากแดนโพ้นทะเล

ในบทความชุดนี้ ฉันอยากจะขอแนะนำให้รู้จักนักบวชพิเศษหกรูปจากจีนที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อศาสนาพุทธในญี่ปุ่นระหว่างช่วงศตวรรษที่ 8 ถึงศตวรรษที่ 17

1. กันจิน วาโจ (688-763): วัดโทโชไดจิในนารา

2. รังเคอิ โดริว (1213-1278): วัดเคนโชจิในคามาคุระ

3. มุงาคุ โซเงน (1226-1286): วัดเอนงาคุจิในคามาคุระ

4. อิซซัง อิจิเนอิ (1247-1317): วัดซูเจนจิในอิสุ

5. อินเงน ริวคิ (1592-1673): วัดมันพูคูจิในอูจิ

6. โทโกะ ชิเนทสึ (1639-1696): วัดไดโอจิในโทจิงิ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ค้นหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Toshodaiji Temple

Onlada Chollavorn

Onlada Chollavorn @onlada.chollavorn

My name is Onlada. I am passionate about creative thinking and digital technology. My motto is “The price of success is hard work, dedication to the job at hand, and the determination that whether we win or lose, we have applied the best of ourselves to the task at hand.”