เดินอยู่บนระหว่างทางเดินเข้าสู่ศาลเจ้าคาสึกะ ไทฉะ (Kasuga Taisha Shrine) เหมือนเดินย้อนเวลาไปหาอดีต ไปยังที่จุดหนึ่งที่เข็มนาฬิหยุดนิ่ง ที่ๆธรรมชาติมาประชุมกันอย่างเหมาะเจาะกับงานศิลปของมนุษย์
สร้างในสมัยศตวรรษที่ 8 ศาลเจ้าคาสึกะ ไทฉะ เป็นศาลเจ้าในลัทธิชินโต ที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของสวนนาราพาร์ค ตรงเชิงของภูเขาคาสึกะ (Mt Kasuga) และภูเขาวากากุสะ (Mt. Wakakusa) ศาลเจ้าคาสึกะ ไทฉะ รายล้อมไปด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่ ตั้งแต่ต้นซูกิ สนญี่ปุ่นต้นใหญ่ๆ ไปจนถึงต้นฟูจิ (วิสทีเรีย) หากไปเยือนถูกจังวะ (เดือนพฤษภาคม) ลานศาลเจ้านี้คงจะเต็มไปด้วยสีสัน และกลิ่นหอมของดอกฟูจิ
มีสิ่งหนึ่งที่ฉันประทับใจมากที่สุด คือโคมไฟหินเก่าแก่ยืนเรียงราย ต้อนรับและทักทายผู้มาเยือน ไม่ได้มีแค่ร้อย แต่เป็นพัน
ฉันเดินวนกลับไปมาบนถนนโคมไฟหิน อยากทำความรู้จัก อยากเก็บรายละเอียด อยากให้โคมไฟหินนี้พูดได้ จะได้เล่าเรื่องราวต่างๆ เล่าเรื่องผู้คนที่เดินผ่านไปมา ตั้งแต่เวลาที่ศาลเจ้านี้ได้ถูกสร้างขึ้น ในมือถือหนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองนารา ที่มีปีของญี่ปุ่นกำกับไว้ว่า โชวะ 62 (Showa 62) คือปี 1987 นั่นเอง
ทันใดนั้นเอง ฉันได้ยินเสียงคุยกัน ไม่ใกล้ไม่ไกลนัก ฉันเห็นโคมไฟหินอันใหญ่ โชงกหน้าไปคุยกับโคมไฟหินอันที่เล็กกว่า ด้วยเสียงอ่อนโยน แผ่วเบา จากเสียงที่ได้ยิน เดาได้ว่าเจ้าของเสียงนั้นอายุไม่น้อยเลย
..ฟังเราเถิด พวกเรายืนอยู่ที่ศาลเจ้าคาสึกะ ไทฉะ นี้มานานกว่าพันปี ตั้งแต่นาราเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่น มีกันทั้งหมดกว่า 2,000 อัน ระยะหลัง ก็มีพวกโคมไฟแขวนมาเพิ่มอีกกว่า 1,000 อัน เรายืนมองผู้คนเดินผ่านไปมา ตั้งแต่ เจ้าเมือง ซามูไร ชาวบ้านใกล้ไกล ไปจนถึงนักเดินทางที่ยืนแอบฟังเราอยู่..
ฉันต้องสะดุ้งสุดตัวเมื่อมีมือมาแตะไหล่ ผู้ร่วมทางของฉันนั่นเอง พร้อมกับเสียงถามว่า ฉันพูดคุยกับโคมไฟหินหรือ อยากจะตอบว่า ใช่ แต่เมื่อหันกลับไปดู โคมไฟหินกลับปิดถ้อยคำ ฉันอาจจะจินตการมากไป คงจะมีสักวันที่มีคนเหมือนฉัน คนที่มากไปด้วยจินตการ เดินผ่านมาทางนี้ แล้วได้ยินเสียงโคมไฟหินเก่าแก่ของศาลเจ้าคาสึกะ ไทฉะ คุยกัน
ในแต่ละปีมีอยู่ 3 วัน ที่ค่อนข้างพิเศษ เป็นวันที่โคมไฟหินส่องแสง เจิดจ้า งดงาม เทศกาลโคมไฟ ที่มีขึ้นในวันที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ และวันที่ 14-15 ของเดือนสิงหาคม