รถเข็นกระเป๋าเดินทาง (baggage cart)
รถเข็นคือยานพาหนะที่เคลื่อนที่โดยการออกแรงผลักหรือเข็น เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกพื้นฐานในการขนย้ายสิ่งของ
ผู้โดยสารที่เดินทางด้วยเครื่องบิน พร้อมทั้งกระเป๋าสิ่งของสัมภาระต่างๆ จำเป็นต้องใช้รถเข็นที่ทางสนามบินเตรียมไว้ให้ในการขนย้าย สนามบินนานาชาตินาริตะก็เป็นอีกแห่งที่เนื่องแน่นเต็มไปด้วยผู้คนพร้อมสัมภาระมากมายจากทั่วทุกมุมโลก บรรยากาศการใช้รถเข็นก็ไม่ต่างกับสภาพรถติดหรือจะกล่าวได้ว่าการจราจรรถเข็นติดขัด และเมื่อต้องมีการขึ้นลงหรือเปลี่ยนชั้นอาคาร รถเข็นสัมภาระก็ต้องอาศัยลิฟท์ แต่หากคิดว่าไม่อยากเสียเวลากับการรอลิฟท์ ถ้ามีผ่านจุดขึ้นลงที่เป็นบันไดหรือบันไดเลื่อน ก็คงยกประเป๋าออกจากรถเข็นแล้วเดินหิ้วขึ้นลงไปตามบันไดหรือบันไดเลื่อนนั้น แต่สำหรับสนามบินนานาชาตินาริตะกลับไม่เป็นเช่นนั้น สิ่งที่ไม่คาดฝัน เมื่อเข็นรถเข็นมาถึงทางลงบันไดเลื่อน ขณะที่กำลังจะยกกระเป๋าใบใหญ่ออกจากรถเข็น ก็จะมีคุณป้าใจดีติดปลอกแขนสีเขียว คงเป็นอาสาสมัครหรือพนักงานเข้ามาพูดด้วยภาษาญี่ปุ่น ซึ่งคนที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นก็คงไม่อาจเข้าใจหรือแปลออก แต่ด้วยการเสริมภาษาท่าทางเป็นตัวช่วยบอกความหมายว่า “ไม่ต้องยกกระเป๋าลงจากรถเข็นหรอกค่ะ มาๆ เดียวอีชั้นช่วยนะค่ะ” คงจะต้องการสื่อสารประมาณนี้ ความรู้สึก ณ ขณะนั้นบอกได้คำเดียวว่า “อึ้ง” ถ้าจะอุทานเป็นภาษาต่างประเทศสไตล์ไทยหน่อยก็คงไม่พ้น “อเมซซิ่ง” ไม่คิดว่ารถเข็นที่บรรทุกเต็มไปด้วยกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ จะลงบันไดเลื่อนที่ไม่ใช่แบบทางราบเรียบได้ ด้วยรูปแบบและหลักการง่ายๆของตัวรถเข็น คือ มีก้านกั้นหรือดักกระเป๋าขนาดใหญ่ที่แข็งแรงตรงส่วนด้านหน้า ป้องกันไม่ให้กระเป๋าตกจากรถเข็นหรือล้มกลิ้งเวลาเข็นไปไหนมาไหนหรือเวลารถเข็นสะดุดกับอะไร ตัวฐานรองกระเป๋าปรับทำมุมเอียงขึ้นเล็กน้อยตามองศาของบันไดเลื่อน เมื่อเวลาลงจะมีการเอียงตามมุมบันไดเลื่อนตัวกระเป๋าก็จะเหมือนอยู่ในแนวระนาบ ไม่เกิดการเทน้ำหนักถ่วงไปด้านหน้ามากเกินไป ทำให้รถเข็นไม่พลิกคว่ำไปด้านหน้า ตามด้วยการล็อกล้อ ห้ามล้อ ไม่ให้รถเข็นเคลื่อนที่ เท่านี้ก็สามารถนำทั้งรถเข็นรวมทั้งกระเป๋าลงบันไดเลื่อนไปพร้อมกัน และเมื่อลงไปถึงปลายทางบันไดเลื่อนก็ยังมีคนคอยช่วยขยับรถเข็นออกจากแนวบันไดเลื่อนให้อีกด้วยอำนวยความสะดวกสบายและช่วยระวังความปลอดภัยไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ตัวรถเข็นเองยังมีระบบเสริมความปลอดภัยเพิ่มเติมอีก หลายๆคนคงเคยใช้รถเข็นในหลายๆที่ คงเคยสัมผัสหรือโดนล้อรถเข็นทำร้ายมาบ้างไม่มากก็น้อย ล้อรถเข็นด้านหน้าความสูงหรือตำแหน่งมักจะตรงกับข้อเท้าพอดี ช่วงจังหวะที่ไม่ว่าจะมีคนเข็นตามมาหรือลากรถเข็นเอง จังหวะเวลาก้าวเท้าเดิน แล้วมีล้อรถเข็นมาเกี่ยวหรือเสย ช่างสร้างความเจ็บปวดสุดแสนจะบรรยาย บางทีถึงกับเลือดตกยางออกหรือได้แผลขนาดใหญ่ก็มี แต่รถเข็นของสนามบินนานาชาตินาริตะมีฝาครอบล้อป้องกันไว้ ส่วนล้อด้านหน้าก็จะมีกันชนเสริม และแทบไม่น่าเชื่อว่าขนาดพื้นผิวของรถเข็นที่อาจจะมีโอกาสโดนหรือสัมผัสกับวัสดุส่วนที่เป็นโลหะ ก็จะมีพลาสติกปิดไว้เพื่อเป็นฉนวนนอกจากป้องกันความเย็นและยังเป็นการป้องกันไฟฟ้าช็อตหรือไฟฟ้าสถิต สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่ดี การคำนึงในความปลอดภัยถึงผู้ใช้บริการอย่างเต็มที่