วัดท่ามกลางบรรดาต้นซากุระ (เครดิตรูปภาพ: Tomoko Kamishima)

วัดเคนโชจิที่คามาคุระในฤดูใบไม้ผลิ

พุทธศาสนาจากแดนโพ้นทะเลตอน 2-นักบวชรังเคอิ โดริว

วัดท่ามกลางบรรดาต้นซากุระ (เครดิตรูปภาพ: Tomoko Kamishima)
Onlada Chollavorn   - ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

วัดเคนโชจิแต่เดิมถูกสร้างขึ้นให้เป็นสถานปฏิบัติธรรมแบบเซนบริสุทธิ์ในญี่ปุ่นเมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 1200 ในช่วงนั้น มีนักบวชชาวพุทธขั้นสูงจากประเทศจีนที่ก้าวหน้ากว่าเข้ามาฝึกปฏิบัติธรรมในประเทศญี่ปุ่น โดยนักบวชจากทั้งสองประเทศต่างร่วมฝึกปฏิบัติธรรมด้วยกัน เครื่องเคลือบดินเผาและอักษรวิจิตรสุดสวยงามของจีนมีให้พบเห็นในหลาย ๆ แห่ง และมีภาษาจีนอยู่ทั่วทุกมุมของวัด วัดเคนโชจิขึ้นชื่อว่าเป็นวัดเซนระดับแนวหน้าและได้รับการนับถือว่าเป็นแหล่งวัฒนธรรมขั้นสูงในญี่ปุ่น

ดอกซากุระในฤดูใบไม้ผลิ

เมื่อเดินพ้นทางเข้ามาและมุ่งหน้าไปยังประตูซันมอน จะเจอกับเส้นทางที่เรียงรายไปด้วยต้นซากุระ เมื่อดอกซากุระผลิบาน ก็จะเหมือนกับว่ากำลังเดินลอดใต้อุโมงค์ซากุระอย่างไรอย่างนั้น การได้เห็นกลีบดอกไม้สีชมพูร่วงหล่นกระจายอยู่เต็มทางเดินก็เป็นภาพที่สวยงามเช่นกัน หลังเดินผ่านใต้ประตูซันมอนที่ยิ่งใหญ่มาแล้ว ลองเหลียวมองกลับไป ประตูจะทำหน้าที่เป็นกรอบอันสวยงามสำหรับรูปของบรรดาต้นซากุระ

นักบวชรังเคอิ โดริว

รังเคอิ โดริวเป็นหัวหน้านักบวชท่านแรกของวัดเคนโชจิ ท่านเกิดที่มณฑลเสฉวนของจีนในปีค.ศ. 1213 และได้เป็นนักบวชเมื่ออายุ 13 ปี ช่วงนั้นเป็นยุคที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองในจีน ทำให้ท่านได้รับอานิสงส์จากการศึกษาขั้นสูงสุดและบรรลุการรู้แจ้ง ในค.ศ. 1246 เมื่อได้ทราบว่าเซนในญี่ปุ่นกำลังถูกสอนและปฏิบัติแบบผิดวิธี ท่านจึงตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตและออกจากประเทศจีนมา ท่านมาถึงแผ่นดินญี่ปุ่นและพำนักอยู่ที่วัดเอนงาคุจิที่ฮาคาตะเป็นแห่งแรก จากนั้นก็เป็นวัดเซนนิวจิในเกียวโต แล้วก็วัดจูฟูคุจิกับโจราคุจิในคามาคุระ ก่อนที่ท่านจะได้รับคำเชิญให้ไปยังวัดเคนโชจิตอนที่ถูกสร้างขึ้นในค.ศ. 1253

ท่านได้กำหนดกฎเคร่งครัดสำหรับสามเณร เพื่อให้รู้ซึ้งว่า "เซนคือการปฏิบัติ" ศาสนาพุทธของญี่ปุ่นในยุคนั้นยึดคาถาและการสวดภาวนาเป็นหลัก แต่ไม่ปฏิบัติธรรม แม้ว่าบางวัดจะเริ่มปรับเป็นวิถีเซนแล้ว แต่ก็ยังถูกผสมด้วยพุทธรูปแบบอื่นและเน้นการเล่าเรียนกับงานเขียนแทน ท่านโดริวมีศรัทธาอย่างแรงกล้าว่าการฝึกวินัยให้ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จึงได้แบ่งปันข้อปฏิบัติที่เขียนด้วยลายมือกับเหล่าพระสงฆ์ ลำพังลายมืออันสวยงามของท่านก็นับว่าเลอค่าในทางศิลปะแล้ว แต่ฉันว่าเนื้อหาที่สะท้อนความเป็นตัวท่านในงานเขียนก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างข้อปฏิบัติ

1. ปฏิบัติสมาธิแบบเซนตั้งแต่เริ่มช่วงเย็นไปจนถึง 5 ทุ่ม และจากตี 2 จนถึง 6 โมงเช้า (นั่นเท่ากับวันละ 9 ชั่วโมงเลย! )

2. ล้างหน้าล้างตาให้เสร็จสิ้นก่อนตี 3:40 นาที

3. ห้ามอังมืออุ่นกับเต่าถ่านระหว่างตี 2:20 นาที ถึง ตี 4:40 นาที และระหว่าง 6 โมงเช้า ถึง 10 โมงเช้า

4. ห้ามพูดคุยขณะอยู่ที่บริเวณเตาถ่าน หรือที่ศาลาวัด

5. เดินเงียบ ๆ ห้ามมีเสียงฝีเท้า

ถ้าหากมีผู้ใดฝ่าฝืนกฎ จะต้องถูกปฏิบัติสมาธิแบบเซนเพิ่มขึ้นอีกหลายชั่วโมง ซึ่งถือว่าเคี่ยวเข็ญพอดู เพราะพระทุกรูปต่างก็ยุ่งอยู่กับหน้าที่และการทำสมาธิมากพออยู่แล้ว นับแต่วินาทีแรกที่พระเข้ามาในวัด ท่านก็ต้องทำงานหนักและมีหน้าที่มากมายให้ทำทุกวัน และยังมีเวลานอนเพียงน้อยนิดด้วย ดังนั้นถ้าพระรูปใดต้องถูกทำโทษเพิ่มอีก ก็จะไม่มีเวลานอนหรือรับประทานอาหารเลย!

บทอำลาของรังเคอิ โดริว

ท่านได้เขียนบทอำลานี้บนเตียงที่ท่านมรณภาพในวัดเคนโชจิเมื่อค.ศ. 1278

เป็นเวลากว่า 30 ปีที่ข้าพเจ้ามายังประเทศญี่ปุ่น ข้าพเจ้าพยายามชี้นำผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ด้วยการสอนข้อดีของเซน ตอนนี้ถึงเวลาต้องจากไปแล้ว คอยดูเถิด! ข้าพเจ้าจะตีลังกาแล้วจากไป (แปลคร่าว ๆ)

ท่านได้แสดงถึงทัศนคติที่เคร่งครัดต่อเหล่าพระสงฆ์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง อย่างที่เราได้เห็นข้างต้น ว่าท่านเองก็มีอารมณ์ขันอยู่ไม่น้อยเช่นกัน!

กล่าวกันว่าต้นสนขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหน้าศาลาพุทธถูกปลูกโดยรังเคอิ โดริว และต้นสนที่อยู่หลังโฮโจนั้นก็เป็นผลงานออกแบบดั้งเดิมของท่าน ท่านได้อุทิศตนโดยปรารถนาว่าเซนจะหยั่งรากในประเทศญี่ปุ่นและเริ่มต้นจากที่วัดเคนโชจิแห่งนี้ เมื่อฉันไปที่วัดเคนโชจิและได้ชมความสวยงามอันเรียบง่ายกับดอกซากุระแล้ว ก็ทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่าท่านรังเคอิ โดริวทุ่มเทให้กับพุทธนิกายเซนในดินแดนญี่ปุ่นมากถึงเพียงไหน

เกี่ยวกับบทความชุด: พุทธศาสนาจากแดนโพ้นทะเล

ในบทความชุดนี้ ฉันอยากจะขอแนะนำให้รู้จักนักบวชพิเศษหกรูปจากจีนที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อศาสนาพุทธในญี่ปุ่นระหว่างช่วงศตวรรษที่ 8 ถึงศตวรรษที่ 17

1. กันจิน วาโจ (688-763): วัดโทโชไดจิในนาระ

2. รังเคอิ โดริว (1213-1278): วัดเคนโชจิในคามาคุระ

3. มุงาคุ โซเงน (1226-1286): วัดเอนงาคุจิในคามาคุระ

4. อิซซัง อิจิเนอิ (1247-1317): วัดซูเจนจิในอิสุ

5. อินเงน ริวคิ (1592-1673): วัดมันพูคูจิในอูจิ

6. โทโกะ ชิเนทสึ (1639-1696): วัดไดโอจิในโทจิงิ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ค้นหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Kenchoji Temple

Onlada Chollavorn

Onlada Chollavorn @onlada.chollavorn

My name is Onlada. I am passionate about creative thinking and digital technology. My motto is “The price of success is hard work, dedication to the job at hand, and the determination that whether we win or lose, we have applied the best of ourselves to the task at hand.”