หากใครก็ตามที่หลงใหลในวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของญี่ปุ่น จนถึงขั้นเดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่ทางพุทธศาสนาและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ถึงแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ พลาดไม่ได้ที่จะแวะเยี่ยมชมศาลเจ้าที่มีชื่อเสียง มีความเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่ง ศาลเจ้าที่กำลังกล่าวถึงนี้ คือ ศาลเจ้าอิเสะ
ศาลเจ้าอิเสะ สร้างขึ้นในสมัยอะซึกะ เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมบวงสรวงเหล่าเทพและเทพีสำคัญสำหรับองค์พระจักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์ยามาโตะเท่านั้นมาตั้งแต่ยุคโบราณกาล
ศาลเจ้าอิเสะตั้งอยู่ในเขตจังหวัดมิเอะ ไม่ห่างจากชายฝั่งทะเลมากนัก อยู่ในอาณาบริเวณสวยงามล้อมรอบด้วยป่าสนโบราณที่ให้บรรยากาศลี้ลับ พื้นที่วัดแบ่งออกเป็น สองส่วน คือ ส่วนในเป็นที่ตั้งศาลเจ้าด้านใน หรือไนกุ[Neiku] เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด สร้างขึ้นเมื่อไหร่ไม่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างต่อมาในคริสตศตวรรษที่ 5 บนพื้นที่แห่งนี้แต่เดิมคงมีศาลเจ้าเก่าตั้งอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อเริ่มเข้่าสู่อาณาเขตของศาลเจ้า จะมีโทริอิ ตั้งอยู่ทางเข้าศาลเจ้า ถ้าหากใครพบเสาโทริอิในลักษณะนี้ จะทราบเลยว่า พื้นที่แห่งนั้นคือ ศาลเจ้าชินโต จากนั้นเป็นทางเดินราว 7 กิโลเมตร เข้าสู่บริเวณด้านนอกหรือเงะกุ มีศาลเจ้าสร้างอุทิศถวายเทวีแห่งการเพาะปลูกโตโยอูเกะ-โอ-มิกามิ ต่อไปเป็นส่วนศาลเจ้าด้านในหรือไนกุ ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิด สร้างด้วยไม้อย่างแน่นหนาแข็งแรง ภายในเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าสำคัญหรือหอกลางโชเด็น[Shoden] สร้างด้วยไม้สนญี่ปุ่นทั้งหลัง ยกพื้นสูงจากพื้นดิน ห้องปิดมิดชิด เมื่อเดินเข้าไปจึงรู้สึกค่อนข้างมืด สถานที่แห่งนี้ใช้สำหรับเป็นที่ประกอบพิธีกรรมเฉพาะองค์จักรพรรดิ นักบวช และเชื้อพระวงศ์ เมื่อเข้าไปสู่ข้างในตัวอาคารจะพบเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องตกแต่งองค์สุริยเทวีและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับใช้ประกอบพิธี จัดแสดงอยู่ กล่าวถึงส่วนหลังคาของอาคาร อาคารหลังนี้มีหลังคาแบบจั่วมุงด้วยหญ้าแห้ง มีเครื่องหมายคล้ายกาแลประดับที่ปลายจั่วคล้ายกับกาแลที่พบในภาคเหนือของประเทศไทย อาคารหลังนี้สร้างเพื่ออุทิศถวายสุริยเทวีอะมาเตระสุ บุคคลที่เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดราชวงศ์จักรพรรดิ ด้านใต้ของอาคาร เป็นอาคารขนาดย่อมสองหลังสำหรับเป็นคลังเก็บราชสมบัติ การก่อสร้างของศาลเจ้าอิเสะนับเป็นต้นแบบชิมเมอิของศาลเจ้าชินโต ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นแท้
อนึ่ง ศาลเจ้าแห่งนี้นอกจากเป็นศาลเจ้าประจำราชวงศ์แล้ว ยังใช้เป็นที่เก็บคันฉ่องสำริดซึ่งเป็นหนึ่งในสามของเครื่องราชกุธภัณฑ์ที่เชื่อว่าสุริยเทวีได้มอบให้มีทั้งหมดสามสิ่ง คือ คันฉ่อง สำริด พระแสงดาบ และพระรัตนมณี แต่เดิมเก็บไว้ในพระราชวังอิมพีเรียล ก่อนที่จะนำมาเก็บไว้ที่อาคารโคไตจิงงุ
ศาลเจ้าอิเสะนอกจากเป็นสถานที่ๆมีความเก่าแก่และมีความสำคัญของลัทธิชินโตแล้วยังมีพิธีเฉลิมฉลองที่น่าสนใจ คือประเพณีเซนกุ[Sengu] หรือประเพณีการรื้อถอนศาลเจ้าเก่าเพื่อสร้างจำลองใหม่ให้เหมือนเดิมในทุกๆ 20 ปี ตามบันทึกได้มีประเพณีนี้มาแล้ว 61 ครั้ง รวมทั้งครั้งสุดท้าย เมื่อ ค.ศ. 1993 พิธีเริ่มต้นจากการคัดเลือกไม้สนญี่ปุ่นฮิโนกิจากป่าสนโบราณนางาโน มีพิธีเซ่นไหว้บวงสรวงขอไม้จากเทพารักษ์จากนั้นนำมาเก็บตากให้แห้ง ทำการวัดขนาดทุกกระเบียดนิ้วจากศาลเจ้าเดิม สร้างใหม่ให้เหมือนเดิม ในบริเวณที่ว่างเตรียมไว้ข้างๆ อัญเชิญพระมหาเทพีย้ายมาประทับ ณ ศาลเจ้าใหม่แล้วจึงทำการรื้อถอน นับเป็นการเปลี่ยนตั้งแต่อาคาร ตลอดจนเปลี่ยนเสื้ออาผ้าภรณ์ เครื่องตกแต่งและอุปกรณ์ทั้งหมด ของเดิมก็แจกจ่ายนั้บตั้งแต่ชิ้นส่วนไม้และอื่นๆไปยังศาลเจ้าชินโตทั่วประเทศ
พิธีกรรมนี้คงมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักการหมุนเวียนของหยินและหยางของศาสนาเต๋าอยู่รวมเข้ากับหลักทางจิตวิทยาที่เชื่อว่าทุกๆ 20 ปี วัสดุย่อมมีการเสื่อมสลาย เป็นระยะเวลาที่ควร มีการถ่ายการสืบทอดความรู้ ประสบการณ์ และอื่นๆ จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมที่ไม่มีวันสูญ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างช่างรุ่นใหม่ให้สืบสานความรู้ทางช่างตามแบบประเพณีได้เป็นอย่างดี
สำหรับการเดินทางสู่ศาลเจ้าอิเสะนั้น หากเดินทางมาจากนาโงย่า ที่สถานี Kintetsu Nagoya โดยรถไฟสายKintetsu Line[Limited Express ] ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที ถึงสถานีIseshi จากนั้นจึงต่อด้วยรถไฟสถานี JR/Kintetsu Iseshi ประมาณ 7 นาทีก็จะถึงศาลเจ้าสวนนอก แต่ถ้ามาจากสถานี Kintetsu Ujiyamada ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 นาที ไม่เสียค่าเข้าชม