นี่แหละความอร่อยที่ถูกยกย่องว่าเป็น “อุด้งที่ต้องซดน้ำซุปให้หมด” ซึ่งเมนูอันแสนจะคลาสสิกนี้ก็คือ "คิดซึเน่ อุด้ง (きつねうどん / Kitsune Udon)" แห่งร้านอุซามิเทมัตซึบายะ (うさみ亭マツバヤ / Usami-tei Matsubaya) อันเป็นต้นกำเนิดของตำรับอร่อยนี้นั่นเอง (เครดิตรูปภาพ: Tada Ratchagit)

กำเนิดคิทซึเนะอุด้ง

ตำรับอร่อยแห่งโอซาก้า ที่เลื่องชื่อโอชาไปทั่วโลก

นี่แหละความอร่อยที่ถูกยกย่องว่าเป็น “อุด้งที่ต้องซดน้ำซุปให้หมด” ซึ่งเมนูอันแสนจะคลาสสิกนี้ก็คือ "คิดซึเน่ อุด้ง (きつねうどん / Kitsune Udon)" แห่งร้านอุซามิเทมัตซึบายะ (うさみ亭マツバヤ / Usami-tei Matsubaya) อันเป็นต้นกำเนิดของตำรับอร่อยนี้นั่นเอง (เครดิตรูปภาพ: Tada Ratchagit)
Tada Ratchagit   - ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

คุณรู้จักอุด้งดีแค่ไหนครับ?

ว่ากันว่าอุด้งแท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดในจีนถูกนำมาเผยแพร่ในญี่ปุ่นโดยนักบวชรูปหนึ่ง (บางตำนานก็เล่ากันต่างออกไป) อุด้งนั้นเข้ามาในญี่ปุ่นทางแถบตอนใต้ของประเทศแต่เมืองที่ทำให้อุด้งโด่งดังจนเป็นเสมือนเมืองแห่งอุด้งเลยนั้นก็คือโอซาก้านี่เอง ... อุ้ด้งเริ่มเป็นที่นิยมในโอซาก้าราวช่วงกลางสมัยเอโดะ (ค.ศ.1603-1868) เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะโอซาก้าถูกยกย่องว่าเป็นเมืองแห่งอาหารการกินอันโอชา และด้วยความที่เป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองนั้นทำให้วัตถุดิบชั้นดีต่างๆ ถูกส่งมายังที่นี่มากมายตั้งแต่ปลาสดๆ ไปจนกระทั่งสาหร่ายคนบุจากฮอกไกโดซึ่งนี่ถือว่าเป็นส่วนผสมสำคัญในการทำน้ำซุปอุด้งในตำรับโอซาก้าเลยทีเดียว หรือแม้แต่ปลาคัทสึโอะจากวากายาม่าที่เป็นที่นิยมในการเอามาทำน้ำซุปทำให้ได้รสชาติหวานอร่อยกำลังดี ... แต่ทั้งหมดทั้งมวลของความอร่อยนี้จะยอดเยี่ยมไปเสียไม่ได้ถ้าหากขาดรสมือของชาวโอซาก้าที่ขึ้นชื่อในเรื่องการปรุงอาหารนั่นเอง

สำหรับอุด้งในแบบฉบับโอซาก้าแท้ๆ (และที่คนโอซาก้านิยมกินมากๆ) นั้นเห็นจะเป็นตำรับอุด้งฟองเต้าหู้ทอด หรือที่เรียกกันว่า “คิดซึเน่ อุด้ง (きつねうどん / Kitsune Udon)” นี่เอง ซึ่งใครเห็นก็ต้องร้อง อ๋อ! เพราะนี่คืออุด้งหน้าตาในแบบฉบับมาตรฐานในปัจจุบันที่เราเห็นกันไปทั่วโลกนั่นเอง ... อุด้งในตำรับนี้นั้นถือกำเนิดขึ้นในย่านมินามิซานบะ (Minami-sanba) ซึ่งเป็นย่านเล็กๆ น่ารักที่เชื่อมกับย่านช้อปปิ้งสำคัญของโอซาก้าอย่างชินไซบาชิ (Shinsaibashi) นั่นเอง ... เอาล่ะเตรียมตัวซู๊ดดดดเส้นกันให้เสียงดังเลยนะครับ

ต้นกำเนิดคิดซึเน่ อุด้ง จริงๆ นั้นก็คือร้าน อุซามิเทมัตซึบายะ (うさみ亭マツバヤ / Usami-tei Matsubaya) นี่เอง ร้านเก่าแก่นี้ก่อตั้งโดยพ่อครัวที่ชื่อ ยาตาโร่ (Yataro) ซึ่งเปิดบริการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1893 กันเลยทีเดียว ... เดิมทีนั้นคุณยาตาโร่เคยเป็นพ่อครัวให้กับร้านอาหารของคุณทาโคะตาเกะ (Takotake) มาก่อน เมื่อเขาคิดที่จะเริ่มทำร้านของตัวเองบ้างคุณทาโคะตาเกะจึงแนะนำว่าให้ลองคิดอุด้งสูตรใหม่ๆ ดูบ้างสิ จะได้เป็นแม่เหล็กดูดลูกค้ายังไงล่ะ ... นั่นจึงเป็นที่ไปที่มาของการคิดค้นสูตรใหม่อยู่หลายต่อหลายหนจนสุดท้ายคุณยาตาโร่ได้ไอเดียมาจากซูชิเต้าหู้ทอด ซึ่งนั่นนำมาสู่การประยุกต์เอาฟองเต้าหูทอดมาใส่ในอุด้งนั่นเอง

เมนูนี้เกิดฮิตในหมู่คนโอซาก้าขึ้นมาอย่างรวดเร็วและแพร่หลายไปทั่วประเทศจนกลายเป็นที่มาของอุด้งอร่อยในแบบฉบับโอซาก้าที่กลายเป็นมาตรฐานของอุด้งในปัจจุบันนี้ไปเลยทีเดียว ทุกวันนี้ที่ อุซามิเทมัตซึบายะ นั้นยังคงอนุรักษ์ความพิถีพิถันในกระบวนการทำอุด้งแบบดั้งเดิมมาจนถึงปัจจุบัน วัตถุดิบที่นำมาปรุงนั้นต้องสดใหม่และมีคุณภาพซึ่งก็รวมไปถึงสาหร่ายคนบุจากฮอกไกโดและปลาคันซูโอะจากเมืองยาคุชิมาทางเกาะใต้อีกด้วย ส่วนแป้งสาลีที่นำมาทำอุด้งนั้นก็คัดพิเศษมาจากเมืองอิซูมิเลยทีเดียว แถมกระบวนการทอดฟองเต้าหู้นั้นยังใช้น้ำมันพืชชนิดพิเศษอันเป็นสูตรเฉพาะตัวของทางร้านอีกด้วย ทำให้ความอร่อยที่ใส่ใจในตำรับ อุซามิเทมัตซึบายะ ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

ถ้าถามผมว่ารู้จักอุด้งดีแค่ไหน ผมตอบได้เลยว่ายังรู้น้อยมากครับ ... แต่ตอนนี้ที่รู้แน่ๆ ก็คืออุด้งของร้านนี้น่ะสมกับคำล่ำลือแห่งความโอชาที่ว่า

เป็น “อุด้งที่ต้องซดน้ำซุปให้หมด” ... เพราะมันอร่อยทุกหยดเลยจริงๆ (ขอรับประกัน)

อุซามิเทมัตซึบายะ (うさみ亭マツバヤ / Usami-tei Matsubaya)

ที่ตั้ง : 3-8-1 Minami-sanba, Chuo-ku, Osaka City, Osaka

เปิด-ปิด : จ.-ส. 11.00-19.00 น. (หยุดวันอาทิตย์)

วิธีเดินทาง : นั่งรถไฟใต้ดิน Osaka Subway สาย M–Midosuji Line, สาย N-Nagahori Tsurumi-Ryokuchi Line ลงสถานี M19, N15–Shinsaibashi แล้วเดินตามแผนที่ร้าน

Tada Ratchagit

Tada Ratchagit @tada.ratchagit

เรามักจะตกหลุมรักเมืองแรกในชีวิตที่เราไปเยือนในสถานะนักท่องเที่ยวหรือนักเดินทางเสมอ, ผมชื่อ ธาดา ราชกิจ (โฟล์ค) เป็นนักเดินทางที่มีโตเกียวเป็นเมืองแรกที่เคยไปเยือนครับ ผมกลับมาเยือนเมืองนี้ถี่และบ่อยที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่ผมเคยไปเยือนมา อาการตกหลุมรักเมืองนี้นั้นหนักเอาการพอสมควร ; ) นอ...