นิทรรศการถาวรที่พิพิธภัณฑ์เอโดะ-โตเกียว (เครดิตรูปภาพ: Little Koyubi)

พิพิธภัณฑ์เอโดะ-โตเกียว

ประวัติศาสตร์แห่งการทำลายและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่

นิทรรศการถาวรที่พิพิธภัณฑ์เอโดะ-โตเกียว (เครดิตรูปภาพ: Little Koyubi)
Little Koyubi   - ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

อะไรคือที่มาของความโดดเด่นเฉพาะตัวในแบบโตเกียว?

ไม่มีอะไรจะตอบคำถามนี้ได้ดีกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองแห่งนี้

และไม่มีที่ไหนจะเหมาะกับภารกิจนี้มากไปกว่าพิพิธภัณฑ์เอโดะ-โตเกียว ที่ตั้งอยู่ในย่านเรียวโกกุ

พิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวย้อนหลังไปกว่า 400 ปี ตั้งแต่สมัยเก่าที่ยังเรียกขานเมืองแห่งนี้กันว่า “เอโดะ” จนถึงการเข้าสู่สมัยใหม่ภายใต้ชื่อ “โตเกียว” ทั้งสภาพสังคม การเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

แต่ก่อนอื่นต้องข้าม “สะพานนิฮงบาชิ” ไฮไลท์อันเป็นภาพจำของนิทรรศการที่เป็นดังทางเข้าอย่างเป็นทางการสู่เมืองเอโดะในสมัยก่อน และเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้เข้าชมนิทรรศการกับโลกในวันก่อนของเมืองแห่งนี้

เช่นเดียวกับที่นิทรรศการนี้สะท้อนภาพให้เห็นการเคลื่อนผ่านของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่โชกุนโทกุงาวะ อิเอยะซึ ได้สร้างเมืองเอโดะ และนำพาญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคปิดประเทศซึ่งเป็นยุคที่มีความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก ก่อนถูกชาติตะวันตกบังคับให้เปิดประเทศก่อนเปลี่ยนชื่อเมืองมาเป็นโตเกียวในที่สุด

นอกเหนือจากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการออกแบบนิทรรศการ ที่สร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้ผู้เข้าชมได้อย่างไม่มีที่ติ ผ่านงานจำลองที่มีรายละเอียดอย่างน่าทึ่ง นั่นรวมถึง “นะกะยะ” หรือบ้านแถวที่บอกเล่าให้เห็นภาพความเป็นอยู่ครอบครัวเอโดะในพื้นที่ขนาด 10 ตารางเมตร และการจำลอง “โรงละครนาคามุระซะ” ขนาดเท่าของจริงไว้ให้ชมกัน จะบอกว่าโรงละครที่จัดแสดงคาบูกินี้เป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมในยุคเอโดะก็คงไม่ผิดนัก นอกจากนั้นยังมีงานภาพพิมพ์แกะไม้อันขึ้นชื่อของญี่ปุ่นซึ่งเป็นงานดั้งเดิมจัดแสดงไว้ให้ชมอีกด้วย

นอกจากความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม ประโยค “เพลิงและการต่อสู้คือมวลหมู่ดอกไม้ของเอโดะ” ยังสะท้อนให้เห็นภาพชีวิตในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี เมื่อเพลิงไหม้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับเมืองแทบทุกปี และนั่นหมายถึงการคิดค้นผังเมืองและนวัตกรรมอันน่าสนใจเพื่อต่อสู้และอยู่กับปัญหาดังกล่าว

จากเอโดะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โตเกียว อาคารสำนักงานสมัยใหม่หลายแห่งได้ถูกจำลองไว้ให้เราเห็นภาพวันที่สังคมเปลี่ยนแปลง ต่อเนื่องไปถึงการเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ หนึ่งในวัตถุจัดแสดงอันเป็นไฮไลท์ก็คือรถยนต์ซุบารุ 360 ที่มีขนาดเล็ก (เท่าๆ กับซูโม่ญี่ปุ่นหนึ่งคน) ที่ออกตลาดในปี 1958

ประวัติศาสตร์ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 1923 ก็เป็นอีกหนึ่งหลักไมล์สำคัญสำหรับประวัติศาสตร์ของโตเกียว เมื่อเพลิงไหม้อันเกิดจากแผ่นดินไหวซึ่งกินเวลานานถึงสามวันนั้นเผาผลาญเมืองโตเกียวไปเสียมากต่อมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือ การสร้างทุกอย่างขึ้นใหม่ให้ดีกว่าเดิม ก่อนเข้าสู่ช่วงการต่อสู้อันยาวนานจนถึงวันที่ญี่ปุ่นเป็นผู้แพ้สงคราม และการสร้างขึ้นประเทศขึ้นใหม่จนกลายเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง

เรื่องน่ารักที่พบเห็นได้ทั้งที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้และสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งในโตเกียวก็คือ การมีชาวญี่ปุ่นสูงวัย มาทำงานเป็นอาสาสมัครนำเที่ยว และสำหรับที่นี่ นักเดินทางไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแค่แสดงเจตจำนงเท่านั้นเองว่าคุณต้องการอาสาสมัครนำชมนิทรรศการ นี่คือเรื่องเล็กๆ ที่สะท้อนให้เห็นการเอาจริงเอาจังกับการรับมือสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี

ส่งท้ายความน่าทึ่งเมื่อจบจากการดูนิทรรศการก็คือ บันไดเลื่อนที่ยาวแทบไม่สิ้นสุดที่พาผู้เข้าชมลงจากชั้น 6 ของพิพิธภัณฑ์มายังชั้นล่างนั่นเอง

การเดินทาง:

JR Sobu Line Ryogoku Station (West Exit)

Subway Toei Oedo Ryoguku Station (A4 Exit)

Little Koyubi

Little Koyubi @kiraya.leksomboon