ไม่ผิดขบวนแน่นอน รถไฟไปชมฟูจิซัง (เครดิตรูปภาพ: Little Koyubi)

“ฟูจิยามะ” ท่วงทำนองของบทกวี

ทำไมความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติจึงกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม?

ไม่ผิดขบวนแน่นอน รถไฟไปชมฟูจิซัง (เครดิตรูปภาพ: Little Koyubi)
Little Koyubi   - ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

นาทีนี้มีคนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังเก็บภาพถ่ายสวยที่สุดของตนเองกับภูเขาไฟฟูจิ

โดยทำเลอันเป็นที่นิยมแห่งหนึ่งก็คือ " คาวากูจิโกะ" หนึ่งในหมู่บ้านทะเลสาบทั้งห้าที่ล้อมรอบอยู่ตรงเชิงภูเขานั่นเอง

ทำไมเราจึงเลือกที่จะเก็บรูปถ่ายกับภูเขาไฟที่สวยที่สุดในโลกแค่ตรงเชิงเขา มากกว่าขึ้นไปบนนั้นเพื่อเก็บประสบการณ์ว่าได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่คนทั้งโลกต่างหลงใหลนี้

เพราะขึ้นชื่อเรื่องความสมมาตร จึงต้องสัมผัสความสวยงามจากระยะที่ไกลพอจะเก็บรูปทรงนั้นไว้?

ในความเป็นจริง “ฟูจิยามะ” หรือที่หลายคนชอบเรียกว่า “ฟูจิซัง” ไม่ได้เป็นเพียงภูเขาไฟที่มีชื่อเสียงสุดในโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นซึ่งมีหิมะปกคลุมยอดเขาตลอดทั้งปี และสามารถมองเห็นได้จากกรุงโตเกียวซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่าหนึ่งร้อยกิโลเมตรได้ในวันที่สภาพอากาศโปร่งใส ด้วยความสมมาตรไม่ว่าจะมองจากมุมไหนและรูปทรงอันสง่างามซึ่งยากจะหาภูเขาอื่นใดมาเปรียบ มันจึงไม่ต่างจากศิลปะชิ้นสำคัญที่ธรรมชาติสร้างเอาไว้

เรื่องน่าสนใจก็คือ แทนที่จะได้รับคัดเลือกให้เป็นมรดกทางธรรมชาติ ยูเนสโกกลับเลือกให้ภูเขาแห่งนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุผลที่ว่าฟูจิยามะนั้น “ได้ให้แรงบันดาลใจกับศิลปินและกวี รวมถึงทำหน้าที่เป็นเส้นทางแห่งการจารึกมาตลอดหลายศตวรรษ”

พูดง่ายๆ ก็คือไม่ได้เป็นเพียงธรรมชาติอันงดงาม แต่เป็นความงดงามที่บันดาลให้เกิดศิลปะและวัฒนธรรมอันงดงามอีกชั้นหนึ่ง!

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีศิลปินทั้งชาวญี่ปุ่นเองและชาวต่างชาติจำนวนมากที่ได้ใช้ฟูจิยามะหรือภูเขาไฟที่ไม่ได้ดับหากแต่หลับใหลอยู่นี้เป็นแรงบันดาลในการสร้างสรรค์ผลงานทิ้งไว้ให้กับโลก ทั้งที่ปรากฎอยู่ในบทกลอน ภาพวาด และงานประพันธ์ในรูปแบบต่างๆ กันไป

ภาพพิมพ์แกะไม้ในชื่อชุด "ทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิ" (富嶽三十六景) ที่รังสรรค์โดยศิลปินชั้นยอดของญี่ปุ่นในยุคเอโดะอย่างคะสึชิกะ โฮะกุไซ คือตัวอย่างของงานศิลปะชั้นเลิศของโลกที่สะท้อนให้เห็นถึงความงามของฟูจิยามะในมุมมองต่างๆ และถือเป็นงานภาพพิมพ์แกะไม้ที่มีชื่อเสียงที่สุดมาจนถึงทุกวันนี้ โดยภาพที่เป็นที่รู้จักที่สุดในงานชุดนี้ก็คือ "คลื่นยักษ์นอกฝั่งคะนะงะวะ" ที่มีฟูจิยามะเป็นฉากหลัง ซึ่งหลายคนน่าจะเคยผ่านตากันมาคนละหลายรอบโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง

เพราะคนญี่ปุ่นนั้นให้ค่าและเคารพกับธรรมชาติ จึงไม่น่าแปลกใจว่าภูเขาที่ยิ่งใหญ่อย่างฟูจิยามะ ก็คือหนึ่งในสามภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ถือเป็นจุดเชื่อมของสวรรค์และนรกตามความเชื่อของญี่ปุ่น (อีกสองแห่งคือทาเทยามะ และฮากุยามะ โดย “ยามะ” หรือ やま ก็แปลว่าภูเขานั่นเอง) จากที่เคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเส้นทางจารึกทางศาสนา ในวันนี้การปีนขึ้นภูเขาฟูจิก็ยังเป็น “วัฒนธรรม” สำหรับคนญี่ปุ่น จนมีคำกล่าวว่าใครก็ตามที่ไม่ปีนขึ้นฟูจิยามะสักครั้งในชีวิตคือคนที่โง่เขลา (และก็โง่เขลาถ้าทำสองครั้ง!)

มีข้อแม้หน่อยเดียว คือห้ามปีนขึ้นไปคนเดียว และขึ้นเฉพาะช่วงที่เปิดให้ขึ้นได้ (ในหน้าร้อน)

การพิชิตยอดเขาฟูจิที่ยังคงเป็นความฝันของชาวญี่ปุ่นในวันนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงนิสัยที่ให้ค่ากับความพยายามอันยิ่งยวดของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ดังกลอนไฮกุโดยกวีเอกในสมัยเอโดะอย่างโคบายาชิ อิสสะ ซึ่งกล่าวถึงฟูจิยามะแห่งนี้ไว้ว่า…

“โอ…ทากน้อย

ปีนขึ้นเขาฟูจิ

ทีละนิด ทีละนิด”

*************************************

(ข้อมูลเพิ่มเติม)

ภูเขาไฟฟูจิมีความสูงถึง 3,776 เมตร  และมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดของญี่ปุ่น ได้แก่ ยามะนะชิ และ ชิสึโอกะ (ส่วนยอดเขานั้นศาลตัดสินว่าไม่อยู่ในเขตจังหวัดใดเลย)

หากต้องการเก็บภาพภูเขาไฟฟูจิแบบเต็มตาและรู้สึกว่าอยู่ใกล้ราวกับเอื้อมมือแตะถึง สามารถทำได้บริเวณทะเลสาบฟูจิทั้งห้าตรงเชิงเขา

หากต้องการเก็บประสบการณ์ปีนขึ้นภูเขาฟูจิ ดูข้อมูลได้ที่ http://www.fujisan-climb.jp/en/

หากนั่งรถขึ้นภูเขาให้สังเกตป้ายโน้ตดนตรี เห็นเมื่อไหร่ให้เงี่ยหูรอฟังเพลงได้เลย เพราะทางขึ้นภูเขาฟูจิเป็นหนึ่งในถนนที่มีการทำเป็น Melody Road ด้วย

Little Koyubi

Little Koyubi @kiraya.leksomboon