แหล่งเที่ยวชมที่ขึ้นชื่อที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น คือ พลับพลาทองคำในวัดโรคุออนจิ (วัดคินคะคุจิ) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเกียวโต
วิธีที่สะดวกที่สุดในการไปวัดคินคะคูจิ คือโดยสารรถประจำทางซึ่งมีให้บริการอยู่หลายสายที่สามารถเข้าไปถึงที่วัดได้ (ฉันแนะนำให้ซื้อตั๋วเหมารายวันราคา 500 เยน ถ้าขึ้นรถสามครั้งก็คุ้มค่าแล้ว!) จากนั้นให้ลงที่ป้ายคินคะคูจิ ข้ามถนน และเดินไปตามเส้นทางนำไปวัด
ให้หยุดที่ตรงข้ามถนนและมองไปทางขวามือ จะเห็นตัวอักษรคันจิ “大” ขนาดใหญ่ซึ่งจะส่องสว่างทั่วทั้งภูเขาเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเทศกาล โอบ้ง ที่จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี จากนั้นให้มุ่งหน้าลงไปตามเส้นทาง จะพบสวนมอสที่ประดับประดาด้วยต้นไม้เก่าแก่ ตรงทางแยก ทางขวามือจะมีทางเดินก่อด้วยหินเป็นทางค่อนข้างยาว แต่ทว่าให้เดินอีกทางหนึ่ง (ทางซ้าย) ไปยังบริเวณที่ขายตั๋วเข้าชม ตั๋วเข้าชมนี้เป็นเพียงแผ่นกระดาษแต่ดูสวยงาม น่าสนใจที่สุดเมื่อเปรียบกับตั๋วที่เคยได้รับ บนกระดาษเขียนด้วยตัวอักษรสีดำงามวิจิตร รองพื้นหลังด้วยตราประทับสีแดงสด แลดูสวยงามที่สุด
เมื่อผ่านที่ขายตั๋วตรงแถวโค้งทางเดิน คุณจะเห็นสิ่งก่อสร้างสีทองตั้งอยู่บนทะเลสาบเล็กๆ (จะเรียกว่าหนองน้ำก็คงดูไม่โก้เก๋เท่าไรนัก) ระดับความสูงของพลับพลาก็ไม่ได้สูงมากนัก กล่าวคือมี 3 ชั้น สูงรวม 12.5 เมตร ในวันที่ฟ้ามัว ปราสาทนี้เป็นสีทองนวลๆ ไม่ได้จับประกายแดดแวววาวมากนัก
ทั่วทุกบริเวณนี้มีป้ายห้ามถ่ายรูปติดไว้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามไม่มีใครเลยที่จะไม่คว้ากล้องถ่ายรูปคู่ใจขึ้นมาเก็บภาพความสวยงามเบื้องหน้าไว้เป็นที่ระลึก ขณะเดียวกันพนักงานรักษาความปลอดภัยก็มีท่าทีไม่ได้ใส่ใจมากนัก ฉันพูดอะไรไม่ออกเมื่อเห็นเช่นนั้น จึงคิดว่าถ้าเขาทำได้เราก็ทำบ้าง ทำไมต้องเป็นเราเพียงคนเดียวที่เคารพกฏอย่างเคร่งครัดและไม่ถ่ายภาพที่ระลึกเสีย? ถ้าคุณผู้อ่านอยากถ่ายภาพสะท้อนปราสาทในน้ำที่แสนจะคลาสสิกก็สามารถถ่ายได้จากบริเวณรอบๆ ทะเลสาบนี้ เมื่อเดินไปรอบ คุณจะเข้าใกล้ปราสาทด้านที่ไม่ได้ติดถนน แต่ตัวปราสาทก็ล้อมรอบไปด้วยต้นสนที่บดบังทัศนียภาพบางส่วน
น่าเสียดายว่าปราสาททองนี้ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อราวทศวรรษที่ 1950 ภายหลังจากถูกเผาโดยนักบวชหนุ่มสติไม่ดีรูปหนึ่ง ภายหลังบูรณะใหม่นี้บนยอดปราสาทประดับด้วยนกฟีนิกซ์สีทอง (ข้อนี้ดูจะเป็นประชดเหน็บแนมอยู่หน่อยๆ)
สถานที่ท่องเที่ยวอีกอย่างหนึ่ง คือ โรงชาโบราณ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายอีกว่าสถานที่นี้ก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ โรงชาของดั้งเดิมซึ่งสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 นั้นโดนเพลิงไหม้ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1800 นับเป็นเวลาสิบปีภายหลังจากเพลิงไหม้ครั้งนั้น โรงชาอาจดูน่าเบื่อไปนิดเมื่อเทียบกับความแวววาวของพลับพลาทองคำที่ได้ไปก่อนหน้า แต่ฉันก็นึกปลอบว่าประเพณีชงชาก็เป็นประเพณีที่ดูสมถะเรียบง่าย มีความงดงามในตัวมันเอง มิใช่จากสถานที่ซึ่งใช้จัดประเพณี ผู้ชื่นชอบแนวคิดสุนทรียะแบบ “วะบิ-ซะบิ” ชื่นชอบโรงชาลักษณะนี้มาก เพราะโรงชาเหล่านี้มีตำหนิต่างๆ อันแสดงถึงความไม่สมบูรณ์แห่งสรรพสิ่ง ผู้นิยมแนวคิดนี้ถือว่าความไม่สมบูรณ์นี้เองเป็นความงดงามที่พึงทัศนา
สำหรับคนที่ไม่สามารถถ่ายรูปสวยๆ งามๆ ได้ดังใจ ก็มีร้านรวงที่ขายของขวัญต่างๆ เช่น ไปรษณียบัตร สมุดภาพ เครื่องราง และของที่ระลึกอีกหลากหลายอย่างให้เลือกสรร ระหว่างทางออก พักเสียหน่อยและหาน้ำดื่มจากเครื่องขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ หรือหาของกินเล่นจากร้านรวงเล็กๆ