ประตูทางเข้าศาลเจ้าเฮอังสีแดงสดสองชั้นนี้ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าประตูโอเท็ง หรือโอเท็มมง (มงแปลว่าประตู)
โอเท็มมง แปลตรงๆ ตัวได้ว่า “ประตูสวรรค์” สร้างเลียนแบบประตูทางเข้าวังของจักรพรรดิในสมัยที่เมืองเกียวโตยังเป็นเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น สร้างเลียนแบบอย่างเดียวไม่พอ ยังเอาชื่อมาใช้ด้วย เพราะพริ้งสมกับที่เป็นประตูวังหลวงจริงๆ
ถึงจะมีชื่อว่าประตูสวรรค์ แต่ประวัติความเป็นมาอันยาวเหยียดของประตูบานนี้กลับโชกโชน ไม่ได้สวยงามเหมือนชื่อสักเท่าไหร่
เรื่องราวเริ่มต้นที่ตระกูลโอโทโมะ
ตระกูลโอโทโมะเป็นตระกูลขุนนางชั้นสูง เหล่าสมาชิกในตระกูลล้วนเป็นคู่คิดของจักรพรรดิญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยที่เมืองนาราเป็นเมืองหลวงเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว และยังจับเก้าอี้เหนียวแน่นจนกระทั่งย้ายเมืองหลวงมากันที่เมืองเกียวโต
วังหลวงในสมัยนั้นมีขนาดมโหฬาร และมีประตูทางเข้าอยู่ 12 บาน แต่ละบานตั้งชื่อตามตระกูลใหญ่ๆ มากอิทธิพล ประตูที่ใหญ่ที่สุด และนับเป็นประตูหลักในการเข้าวังก็แน่นอน มีชื่อว่าประตูโอโทโมะ
สมัยนั้น ประเทศญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากประเทศจีนมาเต็มเปี่ยม ทางราชสำนักญี่ปุ่นจึงคิดเปลี่ยนชื่อประตูวังมาใช้อักษรจีนที่มีความหมายแทนชื่อสกุลคน
เพื่อรักษาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของตระกูลมากอิทธิพลเหล่านั้น ซุกาวาระ โนะ คิโยคิมิ นักการเมืองและกวีคนสำคัญผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีน จึงเปลี่ยนชื่อประตูทั้ง 12 บานแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น เขาพยายามเลือกคำภาษาจีนที่มีความหมายเป็นมงคล แต่อ่านออกเสียงได้ใกล้เคียงชื่อเดิมของประตูที่เป็นภาษาญี่ปุ่นมากที่สุด
ประตูโอโทโมะจึงได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นประตูโอเท็ง แปลว่า “ประตูสวรรค์”
จะว่าไปคุณซุกาวาระ โนะ คิโยคิมิ นี่ก็เป็นอัจฉริยะด้านภาษาศาสตร์ หลักฐานอยู่ที่การเปลี่ยนชื่อประตูวังนี่ล่ะ
นอกจากประตูสวรรค์ ยังมีประตูสวรรค์สิบชั้นหรือประตูดังเท็ง (แปลงมาจากชื่อสกุลดามาเทะ) ประตูแห่งความมั่งคั่งหรือประตูอิงฟุกุ (แปลงมาจากชื่อสกุลอิฟุคิเบะ) เป็นต้น
ความจริงเรื่องของประตูโอเท็งยังยาวมากกว่านี้
ต่อมาในสมัยที่จักรพรรดิจุงนะขึ้นครองราชย์ในปีค.ศ. 823 ตระกูลโอโทโมะต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “โทโมะ” เพื่อแสดงความเคารพและความจงรักภักดีต่อจักรพรรดิที่มีชื่อเดิมก่อนครองราชย์เหมือนกันโดยบังเอิญว่า “โอโทโมะ”
โอ้ ซับซ้อน
แต่ยังไม่จบ ต่อมาขุนนางของตระกูลโทโมะชื่อโทโมะ โนะ โยชิโอะ ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนจุดไฟเผาประตูโอเท็ง จนถูกทำโทษให้ออกจากเมืองหลวงไป
หลายคนตั้งประเด็นขึ้นมาว่าโทโมะ โนะ โยชิโอะ เป็นแพะรับบาปแน่ๆ ก็ทำไมเขาต้องเผาประตูที่เป็นตัวแทนความรุ่งเรืองของต้นตระกูลของตนเองมาตั้งแต่อดีตด้วยล่ะ หรือเขาไปขัดขาทางการเมืองของผู้มีอิทธิผลคนไหนเข้า ถึงโดนจัดฉาก?
แหม ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ที่ประเทศอะไร การเมืองก็เข้มข้นไม่เปลี่ยน
---
การเดินทางไปศาลเจ้าเฮอังที่สะดวกที่สุด --- จากสถานีรถไฟเกียวโต นั่งรถประจำทางสาย 5 หรือ 100 / ค่ารถ 220 เยน