ศาลเจ้าเฮอังสร้างขึ้นมาเพื่อบูชามนุษย์ 2 คนคือจักรพรรดิองค์แรกและองค์สุดท้ายของประเทศญี่ปุ่นที่ใช้เมืองเกียวโตเป็นเมืองหลวง ในอดีตเมืองเกียวโตมีชื่อว่าเฮอัง-เคียว ศาลเจ้าแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “เฮอัง” เพื่อให้คนรุ่นหลังระลึกถึงเมืองหลวงเก่า
ศาลเจ้าเฮอังไม่ได้เอามาแค่ชื่อของเมืองหลวงเก่า แต่สร้างเลียนแบบส่วนหนึ่งของพระราชวังเก่าที่เรียกว่า “ไดไดริ”ด้วย
“ไดไดริ” จำลองนี้มีขนาดเพียงเศษหนึ่งส่วนสามของต้นฉบับเท่านั้นและมันประกอบไปด้วยอาคาร 3 หลังต่อกัน คือหอสิงโตขาว (บั๊กโค่) ไดโงกุเอ็ง (ตำหนักเก่า) และหอมังกรขาว (โซริว)
ที่ทางขึ้นศาลเจ้า มีต้นส้มทาจิบานะและต้นซากุระขึ้นขนาบข้างบันไดอยู่ทั้งสองข้าง
พระราชวังเก่ามีการปลูกต้นส้มทาจิบานะกับต้นซากุระเอาไว้เพื่อเสริมสร้างบารมีให้กับองค์จักรพรรดิ อาจจะช่วยอะไรไม่ได้มากทางรูปธรรม แต่มีพลังมากโขกับจิตใจ เพราะส้มคือสัญลักษณ์ของความมีชีวิตยืนยาว ส่วนซากุระเป็นสัญลักษณ์ของความฉลาดปราชญ์เปรื่อง
ต้นส้มและต้นซากุระที่ปลูกในวังนับเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ จึงมีคำศัพท์เฉพาะในการเรียกชื่อต้นไม้คู่นี้ คือคำว่า “อุกง โนะ ทาจิบานะ ซากง โนะ ซากุระ” แปลกันตรง ๆ ได้ว่า “ส้มทาจิบานะทางขวา ดอกซากุระทางซ้าย”คล้องจองกันเป็นภาษาไทยโดยบังเอิญ
ห้ามย้ายที่ด้วยนะ ต้นส้มต้องปลูกอยู่ทางขวา ส่วนต้นซากุระต้องอยู่ทางซ้ายของตัวตำหนักวังเก่า (หรือตัวศาลเจ้าในปัจจุบัน) เท่านั้น
ต้นฤดูใบไม้ผลินี้ ต้นส้มมีผลติดต้นอยู่หร็อมแหร็ม ส่วนดอกซากุระก็ยังยืนต้นแห้งกรัง หลับไหลเป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่
ความจริง แทบไม่มีวันไหนเลยที่ต้นส้มจะออกผลพรึบพรับไปพร้อม ๆ กับที่ดอกซากุระผลิดอกสีชมพูบานสะพรั่งเต็มต้น ดอกซากุระในเมืองเกียวโตจะบานช่วงต้นถึงกลางเดือนเมษายน (บวก-ลบ 1อาทิตย์) ส่วนต้นส้มทาจิบานะจะออกดอกสีขาวจุ๋มจิ๋มในช่วงหน้าร้อน กว่าดอกส้มจะร่วงโรยกลายเป็นผลส้มโตเต็มที่ก็ปาเข้าไปช่วงหน้าหนาว พอเข้าเดือนเมษายน ผลส้มก็ร่วงหล่นเฉาไปเกือบหมดต้นแล้ว
น่าเสียดายก็จริง แต่ถ้าคิดอีกแง่หนึ่ง ธรรมชาติก็ช่างสรรสร้าง ระบายสีชมพูหวานมาเบรคสีเขียวของใบไม้ให้ผู้คนได้ชื่นชมก่อนในฤดูใบไม้ผลิ และแต้มสีส้มให้บรรยากาศซึมเศร้าช่วงปลายฝนต้นหนาวให้เร้าใจขึ้น
ทำให้ศาลเจ้าเฮอังสวยงามในทุกฤดูกาล