ร้านที่สืบทอดวิถีแห่งการชงชามากว่าสามร้อยปี (เครดิตรูปภาพ: Supakarn Sunthonthammas)

Ippodo Tea Room สุนทรียะแห่งการชงชา

ความละเมียดละไมของร้านชาอายุสามร้อยปี

ร้านที่สืบทอดวิถีแห่งการชงชามากว่าสามร้อยปี (เครดิตรูปภาพ: Supakarn Sunthonthammas)
Supakarn Sunthonthammas   - ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

ความรู้เรื่องชาของฉันมีอยู่น้อยนิด เป็นเพียงความสนใจตามประสาเด็กติดการ์ตูน ที่เห็นภาพพิธีชงชาผ่านหน้ากระดาษที่พิมพ์ด้วยหมึกดำ เมื่อมีโอกาสมาเยือนเมืองที่ลือชื่อเรื่องชาอย่างเกียวโต ฉันก็ไม่พลาดที่จะแวะร้านโน้น ชิมชาร้านนี้ แล้วก็เข้าใจไปเองว่า นี่แหละรสชาติของชาแบบญี่ปุ๊นญี่ปุ่นที่เคยอ่านในการ์ตูน

ความรู้อันตื้นเขินของฉันมลายหายไปในบ่ายแก่ๆของวันที่อากาศขมุกขมัว ฉันหาร้านเตรียมนั่งหลบฝนที่มีทีท่าจะตก แล้วเดินมาเจอะร้านที่มีรถจักรยานจอดเรียงรายอยู่ด้านหน้า ความรู้สึกถูกชะตาแกมอยากรู้อยากลองทำให้ฉันสาวเท้าเข้ามาในร้าน ประตูอัตโนมัติเปิดออก กลิ่นหอมของชาหลากชนิดโชยแตะจมูก คล้ายจะแข่งกันอวดสรรพคุณให้คนที่เคยลิ้มรสชามานับครั้งได้อย่างฉัน ได้ตระหนักว่า ชาญี่ปุ่นที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร 

มาสืบสาวหาข้อมูลทีหลัง ร้านนี้ชื่อ Ippodo เป็นร้านชาอายุร่วมสามร้อยปี มีสาขาที่โตเกียวและข้ามไปไกลถึงนิวยอร์ค แต่สาขาหลักคือร้านที่เกียวโตแห่งนี้เอง ร้านนี้มีส่วนที่เป็นร้านขายชา มีทั้งใบชาแห้งและใบชาสำเร็จรูป ถัดเข้าไปด้านในเป็น Tea Room ที่มีกลิ่นอายของห้องจัดพิธีชงชา แต่ละโต๊ะมีนาฬิกาตั้งอยู่ ยิ่งทวีความอยากรู้อยากเห็นของฉันว่ามันเอาไว้ทำอะไรกัน พนักงานที่นี่ดูคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยว ทุกคนสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี พนักงานที่ดูแลฉันอธิบายรายการชาที่อยู่ในเมนู พร้อมแนะนำชาที่มือใหม่อย่างฉันน่าจะดื่มได้แบบไม่ขมจนฝืนลิ้นตัวเองเกินไป ที่นี่มีชาอยู่ 4 ประเภท แต่ละชนิดมีจุดเด่นของตัวเอง อาทิ Matcha ที่เป็นชาผงดั้งเดิมใช้สำหรับพิธีชงชา มีกลิ่นหอมและสีเขียวสดใส เป็นชาที่เหมาะจะทานคู่กับขนมที่สุด, Gyokuro เป็นชารสอ่อนและหวานกว่ามัทฉะ ควรจิบช้าๆเพื่อให้ได้ลิ้มรสอันละเอียดอ่อน, Sencha (เมนูที่เค้าแนะนำให้ฉัน) เป็นชาที่คนญี่ปุ่นดื่มกันทุกวัน รสชาติอ่อน หวาน และมีกลิ่นหอมทานคู่กับมื้ออาหาร หรือทำเป็นชาเขียวเย็นก็ได้ และ Bencha ทำจากใบชาหยาบ เอาไว้ชงดื่มทุกวันได้เช่นกัน 

หลังจากสั่งไปไม่นาน เซตชา Sencha พร้อมขนมสูตรเฉพาะของทางร้านก็ถูกบรรจงวางลงตรงหน้า พนักงานคนเดิมสอนฉันให้ชงชาด้วยตัวเองทีละขั้นตอน พร้อมบอกเคล็ดลับที่ทำให้เราสามารถดึงรสอันละเมียดละไมของชาออกมา หลักการสำคัญ คือความสมบูรณ์พร้อมของสามสิ่ง นั่นคือ ปริมาณชาที่เหมาะสม อุณหภูมิของน้ำที่ถูกจริตกับชนิดชาที่ชง และความพอดีของจังหวะเวลาที่ใบชาคลายตัว (นาฬิกาบนโต๊ะมีไว้เพื่อการนี้นี่เอง) เค้าบอกต่อว่า รสชาติที่แท้ของชาจะอยู่ในหยดสุดท้าย ดังนั้น เวลารินจึงต้องยกการอจนน้ำชาหยดสุดท้ายไหลลงถ้วย และไม่ควรทิ้งน้ำชาไว้ในกาเพราะจะทำให้ชาเสียรสชาติในครั้งต่อไป 

ปริมาณชาในเซตหนึ่ง จะชงได้ 3-4 รอบ ถ้วยแรกที่ดื่ม ชารสขมและเฝื่อนแต่มีกลิ่นหอมที่แม้ดื่มหมดถ้วยไปแล้ว กลิ่นก็ยังคงอยู่ รอบสองและสามชารสอ่อนลง เข้าสู่ระดับความขมของรสชาที่คุ้นเคย หลังจากจิบชาเสร็จก็ทานขนมตบท้าย ขนมของร้านนี้ไม่ได้ทำออกมาให้หวานเพื่อตัดความขมของชา จึงทำให้ทานแล้วไม่รู้สึกหวานเลี่ยนอย่างที่คาดการณ์ เป็นการปิดท้ายที่ลงตัวทีเดียว

หากคุณสนใจอยากสัมผัสประสบการณ์ดื่มชาแบบดั้งเดิม พร้อมซึมซับประวัติศาสตร์การชงชาอันยาวนาน ร้านนี้เป็นอีกหนึ่งร้านที่ไม่ควรพลาด เพียงนั่งรถใต้ดินมาลงที่สถานี Kyoto Shiyakusho-mae ทางออก 11 หรือ Marutamachi ทางออก 7 แล้วเดินต่อราว 5 นาที

Supakarn Sunthonthammas

Supakarn Sunthonthammas @supakarn.sunthonthammas

I am 24 years old girl who has strong passion in traveling and exploring the world. I believe that better go and see something once than hearing about it a thousand times. I also am one of those who find Japan attractive and can do nothing but wholeheartedly fall for her irresistible charm. I am ...