เราปลูกผักและหญ้าไปพร้อม ๆ กัน เพราะดินจะหนาว และแห้ง หากไม่มีอะไรมาห่มเธอเอาไว้ (เครดิตรูปภาพ: Sathita Salabsang)

ชาวสวนสมัครเล่นที่เมือง Tochigi

เมื่อเราพบกับผักผลไม้ที่สะอาดบริสุทธิ์จนไม่ต้องล้างน้ำ

เราปลูกผักและหญ้าไปพร้อม ๆ กัน เพราะดินจะหนาว และแห้ง หากไม่มีอะไรมาห่มเธอเอาไว้ (เครดิตรูปภาพ: Sathita Salabsang)
Sathita Salabsang   - ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

เรามาถึงเมือง tochigi ในช่วงบ่ายๆ ค่ะ นั่งรถไฟจากโตเกียวประมาณ3ชั่วโมงได้ โดยเคนซัง ชายหนุ่มวัยกลางคน แต่งตัวสบายๆ มารับเราหน้าสถานีรถไฟ เรามาขอทำงานกับชาวญี่ปุ่นเพื่อแลกกับอาหารและที่นอนค่ะ ที่พักของเราเป็นบ้านพักอีกหลังที่เคนซังเช่าเอาไว้ใกล้ๆ กับบ้านของเขาเพื่อให้อาสาสมัครแบบเราแวะเวียนกันมาแลกเปลี่ยนความรู้ที่ฟาร์มของเขาค่ะ โดยหารค่าเช่ากับนักศึกษาญี่ปุ่นอีกคนหนึ่ง บ้านเป็นบ้านญี่ปุ่นเก่าๆ หลังเล็ก ห้องนอนของเราแต่เดิมเป็นห้องเก็บของ ติดถนนแต่ไม่ค่อยมีรถวิ่งผ่่านค่ะ ได้ยินเสียงน้ำไหลตลอดวัน ส่วนกลางคืนมีวงซิมโฟนีชุดใหญ่ ทั้งกบ อึ่งอ่าง จิ้งหรีดเรไร โหมโรงตลอดคืน 

งานแรกของเรา คือเอาต้นกล้าลงแปลงปลูกค่ะ เพราะเคนซัง ดูพยากรณ์อากาศว่าฝนจะตกค่ะคืนนี้ เราเริ่มทำงานกันเวลาบ่ายสามโมงถึงหกโมงเย็นค่ะ ต้นกล้าที่เอาลงแปลงปลูกวันนี้มีหลานอย่างเลย อย่างละนิด อย่างละหน่อย มีกระเจี๊ยบเขียว แตงโม แตงกวา สควอช โหระพา และมะเขือเทศค่ะ แต่ละอย่างก็มีเทคนิคการเอาลงปลูกแตกต่างกันไปค่ะ ส่วนแปลงปลูกก็มีการยกแปลงสูงนิดหน่อย มีดอกสีม่วงๆ ที่เอาไว้บำรุงดิน คลุมอยู่ทั่วทั้งแปลง ช่วยเก็บความชุ่มชื้นในดิน เคนบอกว่า ฝนไม่ตกมาเป็นอาทิตย์แล้ว แต่เราเอานิ้วจิ้มลงไปในดินก็ยักเปียกอยู่เลย ฮื้ออ ของเค้าดีจริงๆ นะ

เราเริ่มงานในวันใหม่กันในเวลาเช้ามืด ประมาณตี4 จนถึง 7โมงเช้าค่ะ จากนั้นก็พักผ่อนตามอัธยาศัย และกลับมาทำสวนอีกนิดๆ หน่อยๆ ตั้งแต่บ่าย3 จนถึง 6โมงเย็นค่ะ เช้านี้เราไปเก็บถั่วลันเตาหวานกัน ซึ่งการเก็บผลผลิตที่ดีนั้น ควรเก็บก่อนเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจะดีที่สุดค่ะ ถั่วเหล่านี้ปลูกในหุบเขาอากาศบริสุทธิ์ ไส้เดือนและแมลงคอยพรวนดินให้ร่วนซุยและอุดมสมบูรณ์ มีหมู่แมลงแวะเวียนกันมากล่าว "อรุณสวัสดิ์" มาชิม มาพักพิง และแลกเปลี่ยนสิ่งดีๆ แก่กัน มีน้ำจากน้ำค้างและฝนแสนบริสุทธิ์ เราเก็บเธอก่อนพระอาทิตย์จะมาทักทาย ไม่แก่ไป ไม่อ่อนไป เราคัดอย่างเบามือ เหมือนแม่ที่ประคองลูกน้อยอย่างเป็นห่วงเป็นใย

"ฉันปลูกอะไร ฉันก็กินอันนั้นแหละ" เคนซังบอกเราค่ะ เสน่ห์ของอาหารญี่ปุ่น คือการลิ้มรสของวัตถุดิบนั้นๆ อย่างแท้จริง ไม่มีการปรุงอะไรให้มากนัก แต่เน้นที่คุณภาพและความสดใหม่ของสิ่งๆ นั้นจริงๆ อาจเป็นเพราการผลิตวัตถุดิบในปัจจุบันไม่ได้ความปราณีต ใส่ใจ เหมือนเมื่อก่อน หรือเป็นเพราะทรัพยากร น้ำไม่สะอาด ดินไม่มีแร่ธาตุ อากาศมีแต่มลพิษ วัตถุดิบประกอบด้วยสารเคมีนานาชนิด ให้โตใหม่ ขนาดใหญ้ แต่ข้างในกลวงโบ๋ และไม่มีประโยชน์กับร่างกายหากเป็นเช่นนั้นจริง แล้วเราผู้ประกอบอาหารยังพยายามให้มากขึ้น เพื่อกลบร่องรอย ปิดบังความไม่บริสุทธิ์เหล่านั้นแล้ว มันก็เหมือนกับการปิดตาผู้บริโภค เราก็จะรู้สึกตัดขาด ห่างเหินกับแหล่งผลิตออกไปเรื่อยๆ เราจะไม่เข้าใจถึงปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น เราจะไม่รู้สึกว่า ฉันต้องแก้ไขอะไรในตัวฉันสักอย่าง? มื้อนี้เราทานเต้าหู้เย็นราดโชยุ และวางผักชีไว้ข้างบนค่ะ เราเอามาทานกับข้าวที่เพื่อนร่วมงานของเคนซังให้มา บนข้าวเราโรยงาคั่วนิดหน่อยพอหอม เมื่อทานเสร็จถ้วยข้าวว่างเปล่า จานเต้าหู้ก็ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเหลือบนภาชนะ มื้อนี้อร่อยเป็นพิเศษเพราะเรารู้ว่าพวกเขามาจากไหน

Sathita Salabsang

Sathita Salabsang @sathita.salabsang

 i am just a small creatures surrounded by wonderful living things