เรียวซังยังอยู่เป็นอมตะ บนแผ่นไม้อธิษฐานของอารามคาโทริ (เครดิตรูปภาพ: Jeremy Yap)

ตามล่าหา คังคิจิ เรียวซึ

มังงะที่เปลี่ยนเมืองทั้งเมือง

เรียวซังยังอยู่เป็นอมตะ บนแผ่นไม้อธิษฐานของอารามคาโทริ (เครดิตรูปภาพ: Jeremy Yap)
Charnchai Guoy   - ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

เคยได้ยินชื่อมังงะ คุณตำรวจป้อมยาม (Kochira Katsushika-ku Kameari Kōen Mae Hashutsujo) ไหมครับ? ไม่เหรอ? แล้วถ้าชื่อย่ออย่าง โคชิคาเมะ (Kochikame) ล่ะ? ถ้าใครพอจะนึกออก คุณเก่งมาก แต่ถ้ายังไม่ทราบ อีกสักครู่คุณได้รู้ทุกอย่างครับ

ก่อนอื่น ชื่อยาวๆภาษาญี่ปุ่นของมังงะเรื่องนี้ แปลว่า ที่นี่คือสถานีตำรวจหน้าสวนสาธารณะคาเมอาริ (Kameari Park) ในเขตคัตสุชิกะ (Katsushika Ward) หรือจะเรียกกันสั้นๆว่า โคชิคาเมะ ก็ได้ครับ (เมืองไทยเราให้ชื่อเรื่องว่า คุณตำรวจป้อมยาม :ผู้แปล) มังงะเรื่องนี้ เป็นมังงะเรื่องยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยความยาวเกิน 1,700 ตอน และขายได้มากกว่า 155 ล้านเล่ม ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของวงการมังงะญี่ปุ่น โดยตอนแรกออกมาในปี 1976 ครับ ถ้าคุณไม่รู้จักตัวมังงะเลย แต่ก็น่าจะพอคุ้นๆหน้า คังคิจิ เรียวซึ (Kankichi Ryotsu) พระเอกของเรื่อง (ในรูปด้านบน) อยู่บ้างนะครับ

หลังจากได้ทราบเรื่องราวของมังงะชื่อดัง ผมก็นึกขึ้นได้ว่า ทำไมไม่ลองไปเที่ยวดูฉากของเรื่อง ที่คาเมอาริซะเลยล่ะ? ทันใดนั้น ผมก็ขึ้นรถไฟไปสถานีคาเมอาริทันที (สถานีอยู่ต่อจากสถานีอายาเสะ (Ayase) ก่อนถึงสถานีคานามาจิ (Kanamachi) ในสายชิโยดะ (Chiyoda line) ครับ)

พอออกจากสถานีปุ๊บ ผมก็ได้เห็นเรียวซังมายืนโบกมือทักทายอย่างอบอุ่น คาเมอาริ ย่านชานเมืองแห่งนี้ กว้างกว่าและคนน้อยกว่าโตเกียวตามที่คิดไว้เลยครับ ลองเดินเล่นไปอีกหน่อย ก็เจอเรียวซังยืนเบ่งกล้ามอยู่อีกมุมนึง ผมรู้สึกถึงความปลอดภัยขึ้นมาในทันที ที่ได้เห็นคุณตำรวจนักกล้าม คอยตรวจตราอยู่แทบทุกหนทุกแห่งในย่านนี้ สักพักเรียวซังก็เชิญผมนั่งลงเพื่อจะได้พูดคุยกัน แต่ผมก็ไม่พลาด ที่จะขอถ่ายรูปเขาในชุดตำรวจก่อนครับ

หลังจากจากพูดคุยกันสัก 1 วินาทีได้ (แต่เรียวซังไม่ยอมคุยด้วย ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน) ผมก็เดินมาเจอ เคอิจิ นาคากาว่า (Keiichi Nakagawa) คู่หูคนเก่งของเรียวซัง กำลังยืนเฝ้าจักรยานให้ชาวบ้านอยู่ ช่างเป็นคนรอบคอบจริงๆครับ

ในที่สุดผมก็เข้าใจ ทำไมชาวคาเมอาริถึงได้รักมังงะเรื่องนี้นัก ก็เพราะคุณตำรวจป้อมยาม ทำให้เมืองเล็กๆแห่งนี้เป็นที่รู้จัก แม้แต่วัดในท้องถิ่นอย่างอารามคาโทริ (Katori Shrine) ยังมีรูปเรียวซังบนแผ่นไม้อธิษฐานเลย ซึ่งเข้ากับหุ่นเรียวซังที่ยืนอยู่ในวัด กำลังชี้นิ้วขึ้นฟ้า เพื่อขอบคุณเหล่าเทวดาที่คอยคุ้มครองเขาและทุกคนครับ

Charnchai Guoy

Charnchai Guoy @charnchai.guoy