ภาพวาดสีน้ำรูปเด็กที่สวยงามและดูอ่อนโยนสร้างความประทับใจแก่ใครหลายคน รวมทั้งตัวผมเองด้วย ภาพเหล่านั้นติดอยู่ในความทรงจำมาโดยตลอด และทราบว่าภาพวาดที่มีเสน่ห์นั้น เป็นผลงานของชิฮิโระ อิวาซากิ มีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงภาพวาดของเธออยู่ที่โตเกียว เมื่อมีโอกาสได้เดินทางไปกรุงโตเกียวเป็นครั้งแรกและมีเวลาว่างหนึ่งวัน ผมจึงไม่ลังเลที่จะเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ผมนั่งรถไฟ JR สายยามาโนเตะไปลงที่สถานีชินจูกุ แล้วต่อด้วยรถไฟสายเซบู ชินจูกุ ไปอีกราว 20 นาทีก็มาถึงสถานีคามิ อิคุสะ ที่สถานีนี้จะเห็นผลงานของชิฮิโระอยู่บนป้ายพลาสติก ทำให้ทราบได้ว่าลงถูกสถานีแล้ว จากนั้นเดินไปตามแผนที่อีกราว 10 นาทีโดยมีบอกทางไปพิพิธภัณฑ์เป็นระยะ ก็จะพบกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระ โตเกียว
ชิฮิโระ อิวาซากิ เกิดที่จังหวัดฟุกุอิในปี ค.ศ. 1918 แต่ย้ายมาอยู่ที่โตเกียว เธอเริ่มเรียนวาดภาพเมื่อมีอายุ 14 ปี ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน เธอมีผลงานภาพประกอบหนังสือ หนังสือภาพ และอื่นๆ ผลงานของเธอได้รับรางวัลหลายครั้ง เหนือสิ่งอื่นใด ภาพวาดของเธอเข้าไปอยู่กลางใจของใครหลายคน ชิฮิโระเสียชีวิตในปี 1974 ด้วยโรคมะเร็ง
แม้ผ่านมาหลายสิบปีแล้ว แต่ภาพที่เธอวาดไว้ยังคงได้รับความนิยม พบเห็นได้ทั่วไป และถูกกล่าวถึงมาจนปัจจุบัน สำหรับชาวไทยแล้ว น่าจะได้เห็นผลงานของเธอจากภาพประกอบหนังสือ “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” มากที่สุด
พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระ โตเกียว ก่อตั้งขึ้นในปี 1977 โดยปรับเปลี่ยนจากบ้านที่เธอเคยอาศัยอยู่กับครอบครัว ใช้เป็นที่จัดแสดงภาพวาดต้นฉบับที่เธอวาดไว้ และในปัจจุบันยังมีภาพประกอบหนังสือเด็กจากทั่วโลกหมุนเวียนกันมาจัดแสดงด้วย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก ตัวอาคารมี 2 ชั้น นอกอาคารประดับด้วยต้นไม้ดูร่มรื่น ชั้นล่างจัดแสดงภาพวาดของชิฮิโระ และห้องทำงานที่เธอเคยใช้วาดรูป ในบรรยากาศที่เหมือนจริง ราวกับว่าเธอยังคงนั่งทำงานอยู่ที่นั่น ข้างห้องทำงานเป็นสวนดอกไม้ที่เธอรัก นอกจากนี้ยังมีร้านกาแฟพร้อมของว่างบริการ และร้านขายของที่ระลึก บนชั้น 2 เป็นห้องจัดแสดงภาพประกอบหนังสือเด็กของศิลปินจากต่างประเทศ ห้องสมุด และห้องนั่งเล่นสำหรับเด็กๆ
ระยะเวลาสักครึ่งวันน่าจะเพียงพอสำหรับการเดินทางและเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ หากใครได้มาเที่ยวโตเกียว สัมผัสกับใจกลางเมืองหลวงของญี่ปุ่นเพียงพอแล้ว อาจลองมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะนี้
ชิฮิโระ อิวาซากิ เคยกล่าวไว้ว่า “ขณะที่วาดภาพเด็กๆ ฉันรู้สึกราวกับกำลังวาดภาพตัวเองในวัยเยาว์”
บางทีผู้ที่มาชมภาพวาดของเธอ อาจค้นพบวัยเยาว์ของตัวเองจากภาพวาดในพิพิธภัณฑ์บ้างก็เป็นได้