ศาลาไดโอโฮเดน (เครดิตรูปภาพ: Tomoko Kamishima)

วัดมันพูคุจิที่เกียวโตในฤดูร้อน

พุทธศาสนาโพ้นทะเลตอน 5 - นักบวชอินเงน ริวคิ

ศาลาไดโอโฮเดน (เครดิตรูปภาพ: Tomoko Kamishima)
Onlada Chollavorn   - ใช้เวลาอ่าน 1 นาที

นักบวชของวัดมันพูคุจิจะไม่เหมือนกับที่วัดพุทธแห่งอื่น ๆ ในญี่ปุ่น ตรงที่พวกท่านปฏิบัติตนตามวิถีพุทธแบบจีน (แบบหมิง)แท้ และฝึกปฏิบัติธรรมตามแนวทางนั้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งเสียงสวด ทำนอง และจังหวะของพระสูตรฟังดูไพเราะและเป็นเอกลักษณ์ และตัววัดเองก็มีสไตล์ที่แปลกแบบหมิงด้วย หัวหน้านักบุญท่านแรกของวัดมันพูคุจิเป็นปรมาจารย์ชาวจีนผู้เที่ยงธรรมนามอินเงน ริวคิ และวิถีเซนของท่านก็เป็นประเพณีอันยืนยาวของที่นี่มากว่า 350 ปีแล้ว

รู้จักกับเสน่ห์ของวัด

ที่วัดแห่งนี้มีสีสันและการออกแบบที่เปี่ยมเสน่ห์อยู่หลายประการ ได้แก่พระพุทธรูปโฮเทอิทองคำที่ประดับประดาอย่างสวยงามฉูดฉาด ทางเดินหินที่ออกแบบเป็นรูปมังกร หลังคาโค้งสมบูรณ์แบบ ไม้ระแนงที่งดงาม และจัตุรัสพื้นทรายที่กว้างขวางตรงหน้าศาลาใหญ่ แล้วก็ยังมีงานไม้รูปปลาน่ารัก ๆ กับลูกท้อเย็บปักที่แขวนอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วบริเวณวัด มาทำความรู้จักกับแต่ละอย่างแบบละเอียดกัน

พระพุทธรูปโฮเทอิทองคำตั้งอยู่ในศาลาเทนโนเดน ซึ่งเป็นอาคารหลังแรกที่คุณจะเห็นเมื่อผ่านประตูใหญ่ซันมอนมา เทนโนเดนเปรียบได้กับทางเข้าของวัด และทุกคนจะสักการะพระพุทธรูปโฮเทอิกันเป็นอันดับแรกก่อน แล้วจึงค่อยเดินต่อไปยังแดนศักดิ์สิทธิ์ด้านใน

บนทางเดินที่ใช้เชื่อมอาคารบางแห่งของวัดจะมีหินรูปข้าวหลามตัดวางเรียงกันอยู่ตรงกลาง ซึ่งก็คือรูปเกล็ดของมังกร นั่นเพราะว่ามังกรคือสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในจีน มีแต่หัวหน้านักบวชเท่านั้นที่ได้สิทธิ์เหยียบย่ำ

อาคารบางหลังจะมีหลังคารูปโค้งสมบูรณ์แบบหรือเป็นระแนงที่สวยงาม ซึ่งการออกแบบเหล่านี้เป็นสไตล์จีน(แบบหมิง)นั่นเอง

จัตุรัสขนาดใหญ่มีชื่อว่าเง็ตไต ตั้งอยู่ตรงหน้าศาลาไดโอโฮเดน ซึ่งมีไว้สำหรับพิธีกรรมพิเศษ ในวันคืนเดือนมืดและวันเพ็ญของทุกเดือน หินเรียบที่ตั้งอยู่ตรงกลางจัตุรัสมีไว้สำหรับการสารภาพบาป

ปลาทำจากไม้ขนาดใหญ่ที่แขวนอยู่ตรงพระระเบียงใช้สำหรับบอกเวลา และปลาจะว่ายน้ำพร้อมกับเปิดตากว้างอยู่เสมอ จึงเป็นสัญลักษณ์ที่กระตุ้นให้นักบวชขยันขันแข็งด้วย ป้ายที่เป็นงานเย็บปักและมีรูปลูกท้อสีสันฉูดฉาดที่แขวนอยู่ตรงศาลาไคซันโดเป็นสิ่งบูชาจิตวิญญาณของท่านอินเงน ริวคิ และเชื่อกันว่าลูกท้อเป็นเครื่องรางที่ช่วยปัดเป่าความชั่วร้ายออกไป ซึ่งการตกแต่งที่สีสันสดใสนี้ทำให้ห้องดูมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง

นักบวชอินเงน ริวคิ

ปีค.ศ. 1592 อินเงน ริวคืถือกำเนิดขึ้นที่มณฑลฝูเจี้ยนของแผ่นดินหมิง (ราชวงศ์หมิง 1368-1644) และได้รับคำเชิญให้ไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อรับตำแหน่งหัวหน้านักบวชของวัดโซฟูคุจิที่นางาซากิในปี 1654 ท่านมีกำหนดให้อยู่ในญี่ปุ่นเป็นเวลาสามปี เพราะฉะนั้นเมื่อถึงสิ้นปีสุดท้าย ท่านจึงถูกรบเร้าให้เดินทางกลับไปที่จีน แต่องค์พระจักรพรรดิและโชกุนตระกูลโทคุงาวะลำดับที่สี่นามอิเอตสึนะพยายามรั้งให้ท่านอินเงนอยู่ที่ญี่ปุ่นต่อ โดยอิเอตสึนะได้บริจาคที่ดินขนาดใหญ่แก่ท่านอินเงนและดำเนินการเปิดวัดมันพูคุจิที่เมืองอุจิของเกียวโตในปี 1661

ตอนที่ท่านอินเงนมาถึงแผ่นดินญี่ปุ่นครั้งแรกนั้น คณะผู้ติดตามของท่านจากจีนประกอบไปด้วยนักบวช 20 ท่านและช่างฝีมืออีก 10 นาย ท่านกับคณะเดินทางได้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องจนศิลปะ ยารักษาโรค สถาปัตยกรรม ดนตรี งานเขียน กลวิธีการพิมพ์ ชาเขียวเซนฉะ และวัฒนธรรมอื่น ๆ จากราชวงศ์หมิงได้หยั่งรากลงที่ญี่ปุ่น ถั่วเขียวที่ปัจจุบันนี้เรียกว่าอินเงน มาเมะเป็นหนึ่งในสินค้าที่ท่านอินเงนนำติดตัวมาด้วย ฟุฉะ เรียวริ (การทำอาหารเจแบบจีน) ก็เป็นท่านที่นำมาแนะนำให้รู้จัก ซึ่งมีแนวคิดที่ว่าการทานอาหารควรจะแบ่งปันกับมิตรสหายอย่างสนุกสนาน

ราชวงศ์หมิงกับมันพูคุจิ

นักบวชโทโกะ ชิเนทสึ (อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ในเรื่องวัดไดโอจิ) ซึ่งมาจากแผ่นดินหมิงได้แวะมาเยี่ยมเยียนวัดมันพูคุจิในปี 1680 ตามที่ระบุในหนังสือ (『明朝末帝の日本亡命』) ท่านล่วงรู้ความลับของจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงในยุคนั้น เรื่องราวเป็นดังต่อไปนี้:

ปี 1647 เรือของจีนสามลำปรากฏให้เห็นและทอดสมอลงที่นอกชายฝั่งนางาซากิ โชกุนโทคุงาวะเข้าทำการตรวจสอบเรือทั้งสามลำนั้น และเตรียมทหารไว้เผื่อเกิดการสู้รบ ก็ต้องแปลกใจเมื่อพบกับคน 360 คนซึ่งรวมไปถึงผู้สูงศักดิ์บนเรือเหล่านั้นด้วย ทั้งหมดเป็นผู้ลี้ภัยที่หลบหนีมาจากราชวงศ์ชิงที่เพิ่งขึ้นครองอำนาจ และขอให้ญี่ปุ่นคุ้มครองพวกตน โชกุนก็ตอบรับคำร้องขอนั้น และให้ที่พักพิงอย่างลับ ๆ กับผู้สูงศักดิ์คนนั้นและตระกูลของเขา แต่คนอื่นที่เหลือถูกเนรเทศ ครอบครัวผู้สูงศักดิ์ถูกพาไปหาตระกูลโอวาริและอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นนับตั้งแต่นั้น แต่หลังจากมาอยู่อาศัยในญี่ปุ่นได้ระยะหนึ่ง เขาก็มักจะไปที่อิโทคุเดน (บริเวณที่อยู่ด้านในสุด) ของวัดมันพูคุจิอยู่บ่อยครั้งเพื่อทำการประชุมลับที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูราชวงศ์ขึ้นมาใหม่ แต่ตามประวัติศาสตร์แล้วมันก็ไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง

วัดมันพูคุจิเป็นวัดที่มีเอกลักษณ์มากซึ่งรักษาวิถีและสไตล์ของราชวงศ์หมิงเอาไว้ น่าเสียดายที่วัดพุทธส่วนใหญ่ในจีนโดยเฉพาะวัดแบบหมิงนั้นได้สูญหายไปแทบหมดสิ้นแล้ว แต่ในญี่ปุ่นเรายังสามารถสัมผัสประเพณี ความเชื่อ ศิลปะ และวิถีเหล่านั้นได้ ทั้งเซนและจิตวิญญาณของนักบวชอินเงนถูกเก็บรักษาไว้ที่นี่อย่างมีชีวิตชีวา คุณสามารถย้อนไปดูราชวงศ์หมิงของจีนได้ เพียงแค่ขึ้นรถไฟเจอาร์สายนาระ 20 นาทีจากเกียวโตเท่านั้น และลงที่สถานีโอบาคุ

เกี่ยวกับบทความชุด: พุทธศาสนาจากแดนโพ้นทะเล

1. กันจิน วาโจ (688-763): วัดโทโชไดจิในนาระ

2. รังเคอิ โดริว (1213-1278): วัดเคนโชจิในคามาคุระ

3. มุงาคุ โซเงน (1226-1286): วัดเอนงาคุจิในคามาคุระ

4. อิซซัง อิจิเนอิ (1247-1317): วัดซูเจนจิในอิสุ

5. อินเงน ริวคิ (1592-1673): วัดมันพูคูจิในอูจิ

6. โทโกะ ชิเนทสึ (1639-1696): วัดไดโอจิในโทจิงิ

Onlada Chollavorn

Onlada Chollavorn @onlada.chollavorn

My name is Onlada. I am passionate about creative thinking and digital technology. My motto is “The price of success is hard work, dedication to the job at hand, and the determination that whether we win or lose, we have applied the best of ourselves to the task at hand.”